ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวสิงคโปร์ได้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการหลอกลวงเงินบนอินเทอร์เน็ต (Scam) ที่ส่งข้อความหลอกลวงทางโทรศัพท์ (SMS-Phishing) ให้โอนเงินหรือจัดการข้อมูลในบัญชีเงินฝากบุคคล เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ลูกค้าธนาคาร OCBC ในสิงคโปร์เกือบ 470 ราย ถูกหลอกลวงเงินจากข้อความ SMS ความเสียหายรวม 212.5 ล้านบาท ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่ได้รับ SMS อ้างว่าบัญชีธนาคารมีปัญหา และขอให้กดลิงก์ซึ่งเป็นเว็บไซต์ปลอมแปลงเว็บไซต์ของธนาคาร ทำให้เหยื่อหลงเชื่อและป้อนรหัสผ่านเข้าระบบบัญชีออนไลน์ (ibanking) อย่างไรก็ตาม ธนาคาร OCBC ประกาศจ่ายค่าชดเชยให้ลูกค้าเต็มจำนวน
.
โดยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สิงคโปร์ได้ออกมาตรการเสริมสร้างความปลอดภัยเพื่อปกป้องสินทรัพย์ของผู้ใช้บริการดิจิทัล ในส่วนของมาตรการสำหรับผู้ใช้บริการ เช่น ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลบัญชีธนาคาร ตรวจสอบการแจ้งเตือนธุรกรรมจากธนาคารอย่างใกล้ชิด ห้ามคลิกลิงก์ใน SMS หรืออีเมลที่อ้างว่าส่งมาจากธนาคาร และ อัปเดตอุปกรณ์ด้วยแพตช์รักษาความปลอดภัยล่าสุด (security patches) ส่วนมาตรการสำหรับธนาคารในสิงคโปร์ เช่น ลบลิงก์ในอีเมลหรือ SMS ที่ส่งถึงลูกค้ารายย่อย จัดชุดพนักงานช่วยเหลือลูกค้าด้าน และเพิ่มความถี่ในการแจ้งเตือนภัยหลอกลวง
.
จากข้อมูลสถิติพบว่าตั้งแต่ปี 2559 ถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีผู้เสียหายจากขบวนการมิจฉาชีพในสิงคโปร์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เฉพาะในช่วงหกเดือนแรกของปี 2564 กรณีการหลอกลวงเพิ่มเป็น 658 กรณี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถึง 16 เท่า โดยผู้คนในสิงคโปร์ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงในเชิง “ความรัก” บนอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 827.5 ล้านบาทในปี 2563 รองลงมาคือการถูกล่อลวงให้ลงทุน สมัครงาน หรือกู้ยืมเงิน และการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อขอข้อมูลส่วนตัว นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 90 ของการหลอกลวงมาจากขบวนการในต่างประเทศ จึงยากต่อการติดตามผู้กระทำผิด
.
เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 สำนักงานพัฒนาการสื่อสารและสารสนเทศของรัฐบาลสิงคโปร์ (The Infocomm Media Development Authority – IMDA) ร่วมกับ MAS จัดทำโครงการนำร่องเพื่อสนับสนุนให้วิสาหกิจลงทะเบียนป้องกันเพื่อระบุตัวตนบุคคล (Identification) ของผู้ส่ง SMS (โครงการ SMS SenderID protection) โดย SMS จะถูกบล็อกหากมีการใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ID ผู้ส่งที่ลงทะเบียนป้องกันไว้ หลายองค์กรได้เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว เช่น ธนาคาร OCBC การไปรษณีย์แห่งสิงคโปร์ และ Lazada ทั้งนี้ ระบบยังสามารถเตือนให้ประชาชนบล็อกหมายเลขมิจฉาชีพทั่วไปและสายเรียกเข้าระหว่างประเทศขึ้นต้นด้วยรหัสประเทศสิงคโปร์ “+65” อีกด้วย
.
สำหรับประเทศไทย ขบวนการหลอกลวงเงินทางอินเทอร์เน็ตและข้อความโทรศัพท์ก็กำลังระบาดอย่างหนักเช่นเดียวกัน ส่งผลให้มีผู้เสียหายจากมิจฉาชีพเหล่านี้จำนวนมาก โดยทางธนาคารได้แนะนำวิธีรับมือและป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น เช่น ตรวจสอบสลิปโอนเงินจากผู้โอนก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง หากได้รับอีเมลต้องสงสัยให้ “คิด” ก่อน “คลิก” ตรวจสอบผู้ส่ง เนื้อหาและลิงก์ภายในอีเมลโดยละเอียดก่อนตอบกลับหรือให้ข้อมูลใด ๆ และติดตามข่าวสารด้าน Cybersecurity อย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าเว็บไซต์หรือบริการที่ใช้งานอยู่ถูกขโมยข้อมูลไป ควรรีบเปลี่ยนรหัสผ่านหรือดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น เช่น อายัดบัตรเครดิต ทั้งนี้ องค์กร วิสาหกิจ ผู้ประกอบการและประชาชนไทยทั่วไปควรระมัดระวังและรู้เท่าทันภัยหลอกลวงดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อทรัพย์สินและความปลอดภัยทั้งทางธุรกิจและชีวิตประจำวัน
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์