ปัจจุบัน เนื่องจากการประมงเป็นเศรษฐกิจสำคัญที่อินโดนีเซียมีศักยภาพและมีอำนาจต่อรองกับต่างชาติสูง การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ของอินโดนีเซีย จึงมุ่งเน้นการพัฒนาความยั่งยืนในสาขาประมงและสาขาที่เกี่ยวข้องกับการประมงเป็นหลัก เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การจัดการประมงที่ยั่งยืน และการแก้ไขปัญหา IUU ควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่น ๆ เช่น (1) การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลพลอยได้ของการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลและการเชื่อมต่อเกาะต่าง ๆ อันจะยังประโยชน์ต่อการขนส่งคมนาคมทางทะเล และ (3) การขุดเจาะทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนเกื้อหนุนนโยบายการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของอินโดนีเซียที่เป็นภารกิจสำคัญระดับชาติ และเป็นสาขาสำคัญที่รัฐบาลอินโดนีเซียใช้ดึงดูดการลงทุนจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
.
รัฐบาลอินโดนีเซียเล็งเห็นว่า ศักยภาพของเศรษฐกิจทางทะเลที่อินโดนีเซียมีอยู่ในปัจจุบันเสริมด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะช่วยให้อินโดนีเซียบรรลุ Vision 2045 ที่ต้องการให้อินโดนีเซียเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2045 ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญของรัฐบาลในปัจจุบันคือ การสร้าง ocean governance ผ่านการแบ่งอำนาจหน้าที่และการมีกรอบทางนโยบายที่ชัดเจนในองค์รวม โดยมีกระทรวง Coordinating Ministry for Maritime Affairs and Investment เป็นหน่วยงานหลักที่ประสานงานกับกระทรวงอื่น ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับประเด็น Blue Economy ทั้งระบบ
.
รัฐบาลอินโดนีเซียได้บรรจุประเด็นการพัฒนา Blue Economy ใน National Medium-Term Development Plan (RPJMN) 2020-2024 และอยู่ระหว่างการพัฒนา Blue Economy Development Roadmap ที่จะใช้ถึงปี ค.ศ. 2045 กับ Blue Financing Strategic Document และ Blue Bond เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลงทุน ลดภาระทางการเงินของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการเสาะหาหุ้นส่วนด้านการพัฒนาทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เช่น สวีเดน ADB UNDP
.
นอกจากนี้ โดยที่อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีทรัพยากรจำนวนมหาศาล มีตลาดที่หลากหลาย และมีประชากรวัยแรงงานร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพสูงในด้าน Blue Economy และไทยควรจับตามองหรือสร้างความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจร่วมกันได้ โดยไทยอาจนำแนวทางจากอินโดนีเซียมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทยมากขึ้น ได้แก่ (1) ยกระดับการบริหารจัดการประมงระดับประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกด้านกับเป้าหมาย SDGs โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลและชาวประมงรายย่อย ฟื้นฟูการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลที่เป็นอาหารพื้นฐานในไทย และส่งเสริมมาตรฐานของตลาดและท่าเรือในไทยให้เป็นระดับสากล เพื่อสามารถส่งออกอาหารทะเลไปสู่ต่างประเทศได้มากขึ้น (2) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากชายฝั่งและระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการและปัจจัยในระดับพื้นที่ได้สูงสุด (3) ขยายพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (marine protected areas) เพื่อเฝ้าระวังและลดผลกระทบจากการทำประมงเกินขนาดและ IUU fishing (4) ลดขยะทะเล (marine debris) และ (5) ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้างความร่วมมือในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและชุมชน
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์