สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ของลัตเวีย
.
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เศรษฐกิจของลัตเวียสามารถกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้ โดยในช่วงกลางปี 2564 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission: EC) คาดการณ์ว่า ตลอดปี 2564 GDP ของลัตเวียจะเติบโตประมาณร้อยละ 3.8 ซึ่งต่ำกว่าที่รัฐบาลลัตเวียคาดการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ร้อยละ 5.1 โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ ภาคการส่งออกการฟื้นตัวของความต้องการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนของภาคเอกขน ทั้งนี้ ภาคการบริการจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุม COVID-19 มากที่สุด และจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จนกว่ามาตรการควบคุมการเดินทางและการรวมตัวกันของประชาชนจะยกเลิก อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤศจิกายน 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ปรับค่าการคาดการณ์ GDP ของลัตเวียเป็นร้อยละ 4.7 ซึ่งสะท้อนความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทำได้เกินความคาดหมาย โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการลงทุน
.
อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปประเมินว่าการปรับเปลี่ยนมาตรการของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า GDP ของลัตเวียในปี 2565 จะโตขึ้นถึงร้อยละ 5 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ COVID-19 ของรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการดำเนินมาตรการต่าง ๆ และความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนป้องกัน
.
เครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลใช้กระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คือการลดอัตราการว่างงาน เพื่อกระตุ้นอุปสงค์การบริโภคของภาคครัวเรือน ในปี 2565 การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการลงทุน รวมทั้งการลงทุนในโครงการก่อสร้างในประเทศ เช่น การลงทุนใน Rail Baltica ซึ่งเกิดกระแสตอบรับที่ดีจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะจากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง น่าจะเป็นกิจกรรมหลักที่รัฐบาลลัตเวียให้ความสำคัญเช่นเดียวกับปี 2564
.
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (Central Statistical Bureau: CSB) จัดลำดับประเทศส่งออกหลักของลัตเวียในสหภาพยุโรป ในช่วงปี 2564 ได้แก่ ลิทัวเนีย (16.7%) เอสโตเนีย (10.8%) เยอรมนี (8.1%) และสวีเดน (5.7%) สำหรับการค้ากับสหราชอาณาจักร พบว่าหลัง Brexit มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากอังกฤษในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ลดลงกว่าร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในขณะที่รัสเซียยังคงเป็นคู่ค้าลำดับต้นของลัตเวียสำหรับประเทศนอกสหภาพยุโรป โดยมูลค่าการส่งออกไปยังรัสเซียในเดือนพฤศจิกายน 2564 คิดเป็นร้อยละ 7.4
.
โอกาสด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าไทย-ลัตเวีย
.
ปัจจุบัน มูลค่าการค้าไทย-ลัตเวีย ระหว่างเดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 1,901 ล้านบาท ไทยส่งออกไปลัตเวียจำนวน 1,322 ล้านบาท และนำเข้าจำนวน 578 ล้านบาท โดยมูลค่าการค้ารวมลดลงจากปี 2563 ที่มีมูลค่าการค้ารวม 2,021 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าการค้าที่ลดลงมาจากการส่งออกของไทยไปลัตเวียที่ลดลง โดยในปี 2563 ไทยส่งออกไปลัตเวียรวม 1,498 ล้านบาท
.
โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ลัตเวียให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้าน IT โดยถือเป็น national priority policy ในการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหลัง COVID-19 ซึ่งในปี 2564 ลัตเวียสามารถดึงดูดบริษัท IT จำนวนมากมาจากประเทศเบลารุส รวมทั้งรัฐบาลได้ออกกฎหมายรองรับการสนับสนุนบริษัท startup ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้บริษัท startup สามารถยื่นขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐได้ง่ายขึ้น ทำให้แนวโน้มการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมของลัตเวียเป็นไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด
.
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาศักยภาพของลัตเวียในด้านนี้เพื่อใช้เป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับบริษัท startup ไทยในการ scale-up หรือทำการขยายตลาดเข้ามาในภูมิภาคยุโรปเพิ่มมากขึ้นได้ โดยลัตเวียมีต้นทุนในการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสมาชิกยุโรปประเทศอื่น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ emerging startups สามารถพิจารณาขยายการลงทุนและต่อยอดฐานลูกค้าได้ในอนาคตต่อไป
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์