ปัจจุบัน การส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้เป็นนโยบายสำคัญและเชื่อมโยงกับนโยบายพลังงาน สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมของอินเดีย เนื่องจากอินเดียพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบถึงร้อยละ 85 และเป็นประเทศผู้นำเข้าและผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก โดยมีสัดส่วนการใช้พลังงานในภาคการขนส่งคิดเป็นร้อยละ 18 ของการใช้พลังงานทั้งหมด ในขณะเดียวกัน อินเดียกำลังประสบปัญหา PM 2.5 และมลพิษทางอากาศเป็นอันดับต้นของโลก ดังนั้น เมื่อปี 2015 รัฐบาลอินเดียจึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย Faster Adoption and Manufacturing of Electric Vehicles in India Scheme (FAME India) และได้จัดสรรเงินจำนวน 1 แสนล้านรูปีอินเดีย หรือประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการดังกล่าว โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขายรถยนต์ EV คิดเป็นร้อยละ 30 ของรถยนต์ส่วนตัวร้อยละ 70 สำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และร้อยละ 80 สำหรับรถยนต์ EV ประเภท 2 และ 3 ล้อ ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งรัฐบาลในแต่ละรัฐของอินเดียได้เริ่มวางนโยบาย EV โดยล่าสุด รัฐบาลของรัฐ 19 รัฐ จาก 28 รัฐของอินเดียได้มีนโยบาย EV ของรัฐแล้ว และบริษัทเอกชนของอินเดียหลายบริษัทได้หันมาผลิตรถไฟฟ้า EV ประเภท 2 ล้อ 3 ล้อ 4 ล้อ รวมทั้งรถโดยสารไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในโครงสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem)
.
นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของแต่ละรัฐในอินเดีย
.
รัฐมหาราษฎระ เป็นรัฐแรก ๆ ของอินเดียที่ได้ริเริ่มนโยบาย EV โดยตามเอกสาร Maharashtra Electric Vehicle Policy 2021 รัฐมหาราษฎระได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 9.3 พันล้านรูปีหรือประมาณ 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ลดกระบวนการและขั้นตอนในการนำ EV มาใช้ในการคมนาคมขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจัดสรรงบประมาณในการคิดค้น วิจัย และพัฒนาทักษะของบุคลากรในอุตสาหกรรม EV โดยมีมาตรการที่น่าสนใจ เช่น ผู้ที่ซื้อ EV จะได้รับส่วนลดรูปแบบต่าง ๆ ตามขนาดของแบตเตอรี่ ได้รับการยกเว้นภาษีการใช้ถนน จนถึงปี ค.ศ. 2025 เจ้าของ EV จะได้รับเงินชดเชยหากนำรถยนต์สันดาปภายในคันเก่าไปทำลาย
.
รัฐคุชราต มีความสำคัญในการผลักดันนโยบาย FAME India ของรัฐบาลเป็นอย่างมาก โดยเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแห่งแรกของอินเดีย และมีการประเมินว่ารัฐคุชราตเป็นรัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ แก่อุตสาหกรรม EV สูงที่สุดในอินเดีย ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 8.7 พันล้านรูปี หรือประมาณ 115 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม EV และเพิ่มจำนวนรถ EV ในรัฐให้มีจำนวน 2 แสนคันภายใน 4 ปี โดยมีมาตรการสนับสนุนที่สำคัญ อาทิ EV ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคันจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมให้เงินอุดหนุนในลักษณะต่าง ๆ แก่เจ้าของ EV ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถส่วนบุคคล หรือ เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
.
รัฐมัธยประเทศ ได้ประกาศนโยบาย Madhya Pradesh Electric Vehicle Policy 2019 มีเป้าหมายเร่งรัดการใช้ EV ในรถยนต์ขนส่งสาธารณะในสัดส่วนร้อยละ 25 ภายในปี 2026 โดยมีมาตรการที่น่าสนใจ เช่น ยุติการจดทะเบียนรถยนต์สันดาปภายในสำหรับบางเมืองที่มีความพร้อม ส่งเสริม สนับสนุน และอุดหนุน ให้มีการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อรองรับ EV รวมถึงการยกเว้นภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สำหรับรถ EV ประเภท 3 ล้อที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะเป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น
.
รัฐกัว ได้ประกาศนโยบาย Goa Electric Mobility Promotion Policy 2021 ตั้งเป้าที่จดทะเบียนแรกใหม่เป็นรถยนต์ EV ให้ได้ร้อยละ 30 และเปลี่ยนเรือข้ามฟากเป็น EV ร้อยละ 50 ภายในปี 2025 โดยมาตรการที่น่าสนใจ เช่น การให้เงินอุดหนุนสำหรับการซื้อรถยนต์ EV การสนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม EV โดยเฉพาะกลุ่ม start-ups เพื่อสร้างงานใหม่ให้กับประชาชนในรัฐกัว
.
โอกาสของผู้ประกอบไทย
.
รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ในทิศทางเดียวกับรัฐบาลอินเดีย ตามนโยบาย 30/30 และไทยเองก็มีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และแรงงานที่มีฝีมือตลอดจนนโยบาย BCG และศักยภาพของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor- EEC) ต่างมีส่วนช่วยที่จะสามารถผลักดันให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเห็นได้จากการที่ บริษัท Great Wall Motors บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่ได้ซื้อศูนย์การผลิตของ General Motors ที่จังหวัดระยองเมื่อเดือนตุลาคม 2563 เพื่อผลักดันการผลิตรถยนต์ รวมทั้งรถ EV ในไทย และบริษัท EVLOMO บริษัทชั้นนำด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐฯ ได้เตรียมก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมใน EEC ล่าสุด
.
ไทยและอินเดียจึงมีโอกาสร่วมมือในอุตสาหกรรม EV ได้ ดังนี้ (1) การดึงดูดให้บริษัทอินเดียเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในไทย โดยเฉพาะใน EEC เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม EV ระหว่างไทยกับอินเดีย ที่สามารถลดต้นทุนของการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์บางส่วนของรถยนต์ EV หรือใน EV Ecosystem ซึ่งปัจจุบัน ได้มีบริษัทอินเดียชั้นนำในการผลิตรถ EV ประเภท 2 ล้อ ได้สนใจที่จะสร้างโรงงานผลิตเกียร์ที่ใช้ในรถ EV ใน EEC (2) การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีด้าน EV ระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและอินเดีย เพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน EV ของทั้งสองประเทศ และยังเป็นการเพิ่ม people-to-people connectivity ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3) การส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกรถยนต์ EV ตลอดจนชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ในรถยนต์ EV หรือใน EV Ecosystem ระหว่างไทยกับอินเดียในอนาคต
.
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์