บริษัท Viboo ซึ่งเป็นบริษัทย่อย (spin-off) ของสถาบันวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยี (EMPA) ได้พัฒนาอัลกอริทึมที่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารได้ตามการคาดการณ์ โดยใช้การเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องของอาคารเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ เช่น ตำแหน่งของวาล์วและการวัดอุณหภูมิภายในห้อง รวมถึงการคาดคะเนอุณหภูมิภายนอกอาคารและรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ จากนั้นอัลกอริทึมจะคํานวณพลังงานที่จะต้องใช้ในการทำความร้อนหรือความเย็นให้กับอาคารเป็นเวลา 12 ชั่วโมงล่วงหน้า วิธีการดังกล่าวทำให้การใช้พลังงานลดลง และไม่ต้องควบคุมอุณหภูมิแบบอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ (thermostat) ที่ส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งภายในอาคารหรือที่พักอาศัย มักจะเริ่มทำงานเมื่ออุณหภูมิสูงเกินหรือลงต่ำกว่าช่วงอุณหภูมิที่กำหนดไว้ และจะต้องใช้เวลานานกว่าอุณหภูมิจะกลับมาอยู่ในช่วงดังกล่าว จึงเป็นการสิ้นเปลืองทั้งพลังงานและค่าใช้จ่าย
.
โดยนักวิจัยได้ทดลองติดตั้งอัลกอริทึมดังกล่าวในอาคาร NEST ซึ่งเป็นอาคารวิจัยทดลองเสมือนจริงของสถาบันฯ พบว่า สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้ร้อยละ 26 – 49 ทำให้ได้รับความสนใจจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ และจะมีการนําเข้าสู่ตลาดต่อไป ทั้งนี้ นักวิจัยได้รับการสนับสนุนเงินทุนภายใต้ BRIDGE Proof-of-Concept Fellowship จากภาครัฐ (SNSF) และ Innosuisse ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของสวิตเซอร์แลนด์ และยังได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 40,000 ฟรังก์สวิส จากบริษัท Venture Kick ซึ่งเป็นบริษัทที่สนับสนุนบริษัท spin-off และ startup เพื่อสร้างธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงและสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
.
ปัจจุบัน บริษัท Viboo อยู่ระหว่างการพัฒนาอัลกอริทึมให้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิผ่านการสร้างและจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบออนไลน์ (cloud-based solution) โดยร่วมกับบริษัท Danfoss ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ (Smart thermostat) เริ่มโครงการนําร่องด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์แบบเดิมในอาคารบริหารของสถาบัน EMPA มาใช้อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะที่ใช้อัลกอริทึมของบริษัทฯ ควบคุมการทำความร้อนและอุณหภูมิเป็นระยะเวลา 4 เดือน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างหารือกับบริษัทอีกแห่งในการพัฒนาการใช้อัลกอริทึมในรูปแบบอื่น โดยเชื่อมต่อเข้ากับระบบอัตโนมัติของอาคารสำนักงานที่สร้างขึ้นใหม่ในนครซูริก ซึ่งจะช่วยควบคุมความร้อนหรือความเย็นภายในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
.
สำหรับประเทศไทย ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจทั่วไปสามารถติดตามข่าวสารนวัตกรรมด้านพลังงานนี้ได้ เพื่อเป็นแนวทางให้ไทยสามารถนำมาปรับปรุงและพัฒนาการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคาร สำนักงาน และที่พักอาศัย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความยั่งยืนด้านพลังงาน ทั้งนี้ ถือเป็นช่องทางและโอกาสที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยสามารถเติบโตไปตามกระแสธุรกิจแห่งอนาคตอีกด้วย
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์