จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ตามด้วยภัยแล้งในมาเลเซียเมื่อเดือนธันวาคม 2564 จนถึงมกราคม 2565 ซึ่งทําให้ผลผลิตทางการเกษตรในรัฐยะโฮร์บาห์รู (Johor Bahru) ซึ่งเสียหายอย่างหนัก ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจภาคการเกษตรของมาเลเซียอย่างรุนแรงในรอบหลายปี ทั้งยังส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานในการนําเข้าอาหารของสิงคโปร์ เนื่องจากมาเลเซียเป็นแหล่งนําเข้าอาหารอันดับ 1 ของสิงคโปร์
.
ด้านสื่อมวลชนท้องถิ่นและประชาชนในสิงคโปร์มีความตื่นตัวว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2565 นี้ สินค้าและ ผลิตภัณฑ์การเกษตรบางประเภทที่นําเข้าจากมาเลเซีย เช่น ผัก ผลไม้ (ทุเรียน) และไข่เป็ด อาจมีปริมาณไม่เพียงพอ และอาจส่งผลให้อาหารและพืชผักบางประเภทราคาแพงขึ้นด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวย่อมทําให้สิงคโปร์ต้องหาแหล่งนําเข้าอาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตรจากประเทศอื่นเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น และเนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรมายังประเทศสิงคโปร์ทดแทนการนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย
.
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 มาเลเซียประสบภัยพิบัติอันเนื่องมาจาก Climate change โดยเฉพาะในเขต พื้นที่รัฐยะโฮร์บาห์รู ซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อนบ้านที่สําคัญและเป็นแหล่งนําเข้าอาหารหลักให้สิงคโปร์ มิหน้ำซ้ำในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 สภาพอากาศในมาเลเซียได้เปลี่ยนแปลงจากภัยน้ำท่วมเข้าสู่ภัยแล้งอย่างฉับพลันและรุนแรง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอย่างยิ่ง ทําให้ชาวไร่แตงกวารายหนึ่งสูญเสียผลผลิตแตงกวากว่า 10,000 กิโลกรัม (คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย ประมาณ 64,600 บาท) นอกจากนี้ ไร่ทุเรียนหลายแห่งก็ได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยเกษตรกรไม่มีผลทุเรียนที่สมบูรณ์พอจะส่งมาจําหน่ายที่สิงคโปร์ได้ภายหลังน้ำท่วม
.
ด้านโอกาสและการต่อยอดของผู้ประกอบการไทยในตลาดสิงคโปร์ หากมาเลเซียยังไม่สามารถรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรได้ในระยะยาว สิงคโปร์ก็อาจมองหาแหล่งนําเข้าผักและผลไม้อื่น ๆ จากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีคุณภาพดี ขนส่งสะดวก และราคาย่อมเยา ซึ่งผลผิตจากประเทศไทยก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสําหรับสิงคโปร์
.
ตารางแสดงประเทศ ปริมาณ และมูลค่าสินค้าผักนําเข้ามายังสิงคโปร์ ปี 2554 – 2563
.
โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจุดเด่นด้านความสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมสูง เช่น ข้าว น้ำตาล ผัก และผลไม้ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์นําเข้าผักสดจากไทยเพียงร้อยละ 4 แต่นําเข้าจากมาเลเซียมากถึงร้อยละ 64 และ จีน ร้อยละ 24
.
ดังนั้น ไทยจงควรใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องที่ตั้งซึ่งห่างจากสิงคโปร์เพียง 730 กิโลเมตรจากสิงคโปร์ (จากอําเภอเบตง จังหวัดยะลาถึงสิงคโปร์) และคุณภาพของผักผลไม้ไทยซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ดังนี้
.
1) สินค้าประเภทผัก เนื่องด้วยเกษตรกรไทยกังวลเรื่องการเปิดบริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ทําให้ไทยนําเข้าผลผลิตจากจีนมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์การเกษตรในประเทศราคาตกต่ำ จึงควรใช้โอกาสนี้ในการระบายอุปทานส่วนเกินของผลผลิตการเกษตรมายังตลาดสิงคโปร์เพิ่มขึ้น
.
2) สินค้าประเภทผลไม้ นอกจากผลไม้ทั่วไปที่ส่งออกมายังสิงคโปร์แล้ว ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาตลาดทุเรียนในสิงคโปร์เพิ่มเติม เนื่องจากทุเรียนเป็นผลไม้ยอดนิยมในสิงคโปร์และสามารถทํากําไรได้ดี ทว่าชาวสิงคโปร์ยังนิยมทุเรียนแบบสุกมาก ๆ โดยเฉพาะพันธุ์ Maosanwang ซึ่งมีรสชาติขมอมหวานจากมาเลเซีย หากผู้ประกอบการไทย สามารถพัฒนาหรือจัดสรรพันธุ์ทุเรียนที่ใกล้เคียงกันมาจําหน่ายในสิงคโปร์ได้ อาจช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของไทยในตลาดทุเรียนสิงคโปร์ได้มากขึ้น
.
3) สินค้าประเภทอื่นๆ ผู้ประกอบการไทยอาจขยายธุรกิจที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังสิงคโปร์เพิ่มเติมได้ เช่น เนื้อสัตว์ ปลาทูน่า และไข่ไก่
.
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะภาคการเกษตรควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้านสภาพอากาศอื่น ๆ ไว้ด้วย เพื่อเตรียมพร้อมกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์