เมื่อพูดถึงแนวโน้มการรับประทานอาหารของผู้คนในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีพฤติกรรมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ผนวกกับการที่เนื้อสัตว์ค่อย ๆ ลดน้อยลง และมีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่อาหารประเภทพืชผักกลับยังมีอยู่ตามปกติในท้องตลาด ทำให้เกิดแนวคิดด้านความยั่งยืนของอาหาร ซึ่งเนื้อสัตว์จากพืช หรือที่เรียกกันว่า plant-based food ได้กลายมาเป็นเทรนด์อาหารที่ได้รับการแพร่หลายทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ผู้ผลิต ผู้บริโภค และห่วงโซ่อุปทานต้องปรับตัวตามกระแสของโลก
.
หนึ่งในผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่อย่างบริษัท Danish Crown ผู้ผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก และผู้ผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของยุโรป ได้ทำการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ Den Granne Stagter (The Green Butcher) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์จากพืชวางจําหน่ายทั่วประเทศ ตามร้านค้าปลีกยอดนิยม โดยเป็นผลิตภัณฑ์ในลักษณะอาหารพร้อมรับประทาน ใช้ผักออร์แกนิกและไม่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง ซึ่งประกอบด้วย 8 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ Veggie Fars (โปรตีนบด) Veggie Bites (โปรตีนหันชิ้น) Veggie BBQ burger (โปรตีนเบอร์เกอร์) Veggie schnitzel (โปรตีนชุปแป้งทอด) Veggie Nuggets (โปรตีนนักเก็ต) Veggie Deler (โปรตีนก้อนทอด) และโปรตีนในรูปแบบอาหารอินเดียปรุงสําเร็จอย่าง Veggie Biryani และ Veggie Tandoori
.
ภายใต้ความสำเร็จนี้ นาย Jais Valeur CEO ของ บริษัท Danish Crown กล่าวว่า บริษัทได้ผลิตสินค้าออกมาหลากหลายรูปแบบ จึงจําเป็นต้องจัดหาผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติดีและง่ายสําหรับผู้บริโภคในการประกอบอาหาร อีกทั้งต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดหาผลิตภัณฑ์จากพืช จึงได้คาดการณ์ว่าความต้องการโปรตีนทางเลือกจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาล่าสุดจากเว็บไซต์ sciencedirect เผยว่า เกือบ 1 ใน 3 ของชาวเดนมาร์กได้ลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ลง และอีกร้อยละ 11.5 ได้วางแผนที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงเช่นกัน ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของบริษัท และจากการสํารวจความคิดเห็นผู้บริโภคของบริษัท พบว่า 2 ใน 3 ของชาวเดนมาร์กวางแผนที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืชมากขึ้น จึงคาดว่าความต้องการในผลิตภัณฑ์ plant based จะมีมากกว่า 5000,000 มื้อต่อสัปดาห์ในอนาคต นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าว่า ร้อยละ 90 ของสุกรที่ส่งให้แก่บริษัทจะต้องมาจากฟาร์มที่มีใบรับรองความยั่งยืน (sustainability certificate) และยังมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศลงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 และประกอบกิจการอย่างเป็นกลางทางคาร์บอน (climate neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050
.
เนื้อสัตว์เป็นหนึ่งในความท้าทายทางด้านความมั่นคงทางอาหารและความเป็นอยู่ของคนรุ่นหลัง ผู้ผลิตเนื้อสัตว์จึงควรเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดซอบในเรื่องดังกล่าว เพื่อการผลิตเนื้อสัตว์มีผลกระทบน้อยลงต่อสภาพภูมิอากาศ ลดความเสี่ยงจากโรคระบาด และมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยสำหรับไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องของอาหารการกิน และอุดมสมบูรณ์ด้านสินค้าการเกษตร ทำให้กลายเป็นแหล่งที่มีวัตถุดิบหลากหลายในการนำมาแปรรูปทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งนอกจากจะมีบริษัท start-ups มากมายที่ออกมาผลิต plant-based แล้ว ยังมีการใช้วัตถุดิบทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่น่าสนใจ เช่น โปรตีนจากจิ้งหรีดที่ดังไกลไปถึงต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่สนใจการพัฒนา plant-based food ควรตระหนักถึงเรื่องการคงรสชาติอาหารที่อร่อย ขณะที่ยังเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหาร และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ง่าย สะดวกต่อผู้บริโภค เช่น อาหารแบบ ready-to-cook หรือ ready-to-eat หรือสามารถพัฒนาเนื้อสัตว์ทางเลือกในอาหารไทยแบบประยุกต์ ซึ่งเดนมาร์กเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าลงทุน และส่งออกด้าน plant-based food อย่างมาก จากแนวโน้มการลดปริมาณบริโภคเนื้อสัตว์ และหันมาใส่ใจการบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงบรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้สย เพื่อให้สอดคล้องต่อนโยบายลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของเดนมาร์ก
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน