ธนาคาร Skandinaviska Enskilda Banken (SEB) เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มนอร์ดิก ได้ประเมินภาพรวมปัจจัยและผลกระทบสําคัญต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศนอร์ดิกอื่น ๆ ประจําปี 2565 ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวดี โดยมีการบริโภคภาคครัวเรือนเป็นปัจจัยผลักดันจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 การส่งออกและภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มกลับมาคึกคัก รายละเอียด ดังนี้
.
นอร์เวย์
หลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการในช่วงกลางเดือนมกราคม 2565 เศรษฐกิจนอร์เวย์อาจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่ง SEB คาดการณ์ GDP ของนอร์เวย์ ในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 4 อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ ในปี 2565
.
ด้านกําลังซื้อของผู้บริโภคซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจของนอร์เวย์ พบว่า กำลังซื้อของภาคครัวเรือนสูงขึ้นอย่างมากจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2564 การบริโภคของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.9 โดยมีปัจจัยผลักดันจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ รัฐบาลและการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างงานสามารถช่วยให้การบริโภคกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยและราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอาจกระทบภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนทําให้การบริโภคของประชาชนเริ่มลดน้อยลง โดยคาดว่าในปี 2565 การบริโภคของภาคครัวเรือนของนอร์เวย์จะอยู่ที่ ร้อยละ 6.6 และลดลงไปที่ร้อยละ 3.6 ในปี 2566
.
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม นอร์เวย์ได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply Chain การขนส่ง และการขาดแคลนแรงงานคุณภาพ ขณะที่ภาพรวมด้านความต้องการสินค้ายังอยู่ในระดับที่ดี แต่ความสามารถในการผลิตยังต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19
.
เดนมาร์ก
ดัชนี GDP ในปี 2565 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากเดิมร้อยละ 3.5 และปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 3 โดยการบริโภคของภาคครัวเรือนยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยคาดว่า รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 และด้วยเครื่องมือสนับสนุนทางการเงินและสถานะเงินออมของภาคครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี จะทําให้การบริโภคของภาคครัวเรือนในเดนมาร์กกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง
.
ฟินแลนด์
ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตที่สูง ทว่ามีพื้นฐานทางเศรษฐกิจบางส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต โดยคาดการณ์ว่า การเติบโตของ GDP ในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 3 และในปี 2566 ที่ร้อยละ 1.6 เนื่องจากการบริโภคภาคครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวมากนักและยังมีอัตราต่ำกว่าช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 แม้ว่าอัตราการจ้างงานในฟินแลนด์จะอยู่ในระดับที่ดีใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาด ผนวกกับค่าแรงและเงินเดือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 2.5 ในปี 2565 และ 2.2 ในปี 2566 อย่างไรก็ดี เงินออมของคนฟินแลนด์ยังอยู่ในระดับที่สูง เนื่องจากในปี 2564 มีการใช้จ่ายค่อนข้างน้อย โดยมีการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง ซึ่งส่งผลให้การบริโภค ของภาคครัวเรือนในฟินแลนด์อาจกลับมาขยายตัวขึ้นหลัง 4 เดือนแรกของปี 2565 ที่ประมาณร้อยละ 3.5
.
ในด้านการลงทุน ปี 2565 พบว่า ฟินแลนด์มีแผนการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ ซึ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจก่อสร้าง ในขณะเดียวกันการลงทุนในภาคธุรกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยในปี 2565 ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และร้อยละ 1.5 ในปี 2566 นอกจากนี้ภาคการส่งออกของฟินแลนด์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยประเมินว่า จะโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2565 อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทําให้ฟินแลนด์ต้องลงทุนในระบบสาธารณสุขอย่างมาก และคาดว่าประเด็นความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์จะส่งผลให้ฟินแลนด์เพิ่มการลงทุนในด้านความมั่นคง ซึ่งจะทําให้เกิดการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นในห้วงปี 2565-2566 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในฟินแลนด์ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปอื่น ๆ โดย คาดว่า ปี 2565 อัตราเงินเฟ้อในฟินแลนด์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4
.
จากความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศนอร์ดิกข้างต้น เห็นได้ชัดว่าในปี 2565 มีแนวโน้มในฟื้นตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภคในประเทศ การขยายตัวของธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการจ้างงานที่มากขึ้น ด้านประเทศไทยที่มีการค้าการลงทุนกับประเทศในกลุ่มนอร์ดิกอย่างหลากหลายและยาวนาน อาจพิจารณาข้อมูลข้างต้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนสำหรับทำธุรกิจในอนาคตต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม