นาย Paul Chan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฮ่องกง คาดการณ์ GDP ฮ่องกงปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากสภาวะถดถอยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผลจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และการบริโภคภายในฮ่องกง ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากโครงการ Consumer Voucher Scheme และความสําเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดฯ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลักที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron สภาวะเงินเฟ้อและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจฮ่องกงได้เช่นกันซึ่งหากปัจจัยดังกล่าวดําเนินไปในทิศทางบวกและฮ่องกงยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดฯ ได้ดี เศรษฐกิจฮ่องกงจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2565
.
ในด้านการส่งออก เดือนพฤศจิกายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่ารวม 4.75 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 2.27 ล้านล้านบาท ขณะที่การนำเข้า เดือนพฤศจิกายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีมูลค่ารวม 4.86 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 2.17 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ Hong Kong Trade Development Council ได้ประเมินว่า การส่งออกของฮ่องกงในปี 2565 อาจขยายตัวที่ร้อยละ 8 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 10 ปี เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การรับมือต่อการแพร่ระบาดฯ รวมถึงการเข้าร่วม RCEP ของจีน โดยสถิติการส่งออก 10 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกจากจีนไปยังอาเซียนผ่านฮ่องกง ขยายตัวที่ร้อยละ 15 ในขณะที่การส่งออกของอาเซียนมายังจีนผ่านฮ่องกง ขยายตัวที่ร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับในปีก่อนหน้า
.
ดัชนีที่สำคัญทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในด้านอื่น ๆ มีดังนี้
.
ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนพฤศจิกายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
.
มูลค่าการค้าปลีก เดือนพฤศจิกายน 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่ารวมประมาณ 30.7 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 1.3 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 11.2 เป็นมูลค่าการค้าออนไลน์ มูลค่ารวม 3.5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตร้อยละ 27.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
.
อัตราการว่างงาน ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงตุลาคม – ธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 4.1 (กันยายน – พฤศจิกายน 2564) และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นราว 2,400 ตําแหน่ง
.
การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เดือนธันวาคม 2564 มีจํานวนลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี มูลค่าการซื้อขายฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 39.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และขยายตัวที่ร้อยละ 24.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
.
ดัชนีการแพร่กระจาย (DI) รายรับของธุรกิจ SMEs เดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 46.0 เพิ่มขึ้นจากตัวเลขในเดือนในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ 45.5
.
การจดทะเบียนบริษัท ในปี 2564 มีบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงเพิ่มขึ้น 110,840 แห่ง (รวมจํานวนบริษัททั้งหมดในฮ่องกง ณ สิ้นปี 2564 ทั้งหมด 1,375,172 แห่ง) โดยเป็นบริษัทต่างชาติ 1,316 แห่ง (รวมจํานวนบริษัทต่างชาติในฮ่องกง ณ สิ้นปี 2564 ทั้งหมด 14,348 แห่ง) ซึ่งจํานวนบริษัทต่างชาติในฮ่องกงในปี 2564 เติบโตร้อยละ 4.33 เมื่อเทียบกับปีก่อน
.
ด้านบริษัทตรวจสอบบัญชี Ernst & Young เปิดเผยสถิติว่า ในปี 2564 มีบริษัททั่วโลกเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น IPO ในฮ่องกงราว 94 แห่ง เงินทุนรวมราว 3.237 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ฮ่องกงครองอันดับ 4 ในการเป็นแหล่งระดมทุน IPO นอกจากนี้ ยังมีบริษัทวางแผนที่จะระดมทุน IPO ในฮ่องกงในปี 2565 แล้วราว 100-120 แห่ง ทําให้ในปี 2565 ตลาดหุ้น IPO ฮ่องกง จะมีเงินทุนสูงถึง 3.5 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 1.47 ล้านล้านบาท และ ฮ่องกงจะขยับอันดับขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของตลาด IPO ระดับโลกอีกด้วย
.
อย่างไรก็ตาม หอการค้าสหรัฐฯ (AmCham) ในฮ่องกง ยังพบว่า มีบริษัทสมาชิก 151 ราย และสมาชิกรายบุคคล 111 ราย ซึ่งพบว่าในปี 2565 ร้อยละ 44 มีแนวโน้มที่จะย้ายธุรกิจออกจากฮ่องกง โดยร้อยละ 60 มีข้อกังวลหลักในเรื่องมาตรการเข้าเมืองที่เข้มงวด เทียบกับร้อยละ 65.4 เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีข้อกังวลหลักในเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ – จีน ทั้งนี้ ร้อยละ 80 เห็นว่าสิงคโปร์เป็นทางเลือกในการย้ายธุรกิจออกจากฮ่องกง นอกจากนี้ ธนาคาร Bank of America สาขาฮ่องกง มีแผนเตรียมย้ายพนักงานจากฮ่องกงไปยังสิงคโปร์ เนื่องจากมาตรการเข้าเมืองที่เข้มงวด ส่งผลให้ธนาคารต่างประเทศหลายแห่งในฮ่องกงเผชิญปัญหาในการคงพนักงานต่างชาติไว้ และการรับสมัครพนักงานใหม่จากต่างประเทศ
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง