เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 รัฐบาลออสเตรียได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทําให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก่อนหน้านี้ เช่น ร้านอาหาร และโรงแรมที่พัก จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง อย่างไรก็ตามอัตราการแพร่ระบาดและจํานวนผู้ป่วยครองเตียง I.C.U. ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วงอย่างน่ากังวลทําให้รัฐบาลออสเตรียประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการเเพร่ระบาดอีกครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 โดยใช้กฎ “2G” (อนุญาตให้เฉพาะผู้ฉีดวัคซีนครบโดส หรือหายป่วยแล้วเท่านั้นสามารถใช้บริการร้านค้า ฯลฯ ได้เเละล็อกดาวน์ผู้ไม่ฉีดวัคซีน) นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่น เช่น กรุงเวียนนา บังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้นขึ้นในการเข้าร่วมกิจกรรมและใช้บริการร้านค้าต่าง ๆ ทําให้ธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร การโรงแรมได้รับผลกระทบและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะชะลอตัวอีกครั้ง
.
ด้านการค้าระหว่างไทยกับออสเตรีย ในช่วงปี 2564 ออสเตรียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 55 ของไทย ปรับตัวลงจากอันดับที่ 51 ในปี 2563 โดยภาพรวมมูลค่าการค้าใน 11 เดือนแรกของปี 2564 ค่อนข้างคงตัว มีมูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยไทยขาดดุลราว 5,900 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ที่ขาดดุล 8,500 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี ซึ่งสินค้าสําคัญที่ไทยส่งออกไปออสเตรียในปีที่ผ่านมาระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2564 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) อัญมณีและเครื่องประดับ (2) รถยนต์และชิ้นส่วน (3) เครื่องจักรไฟฟ้าและชิ้นส่วน (4) เครื่องปรับอากาศ (5) ยางพาราและผลิตภัณฑ์(6) เครื่องสําอาง (7) เลนส์ และอุปกรณ์ถ่ายภาพ (8) เครื่องนุ่งห่มประเภทถักทอ (9) พลาสติกและผลิตภัณฑ์(10) หิน ปูน ซีเมนต์
.
ในขณะที่สินค้า 10 อันดับแรกที่ออสเตรียส่งออกไปไทยระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ปี 2564 ได้แก่ (1) เครื่องจักร (2) เครื่องไฟฟ้าและชิ้นส่วน (3) สารเคมี(4) แก้วและผลิตภัณฑ์(5) อัญมณีและเครื่องประดับ (6) รถยนต์และชิ้นส่วน (7) รถไฟและระบบราง (8) พลาสติกและผลิตภัณฑ์(9) เลนส์ และอุปกรณ์ถ่ายภาพ (10) เวชภัณฑ์ ทั้งนี้ ออสเตรีย นําเข้าสินค้าจากจีน และเวียดนามเป็นจํานวนมากดยเฉพาะสินค้าที่แข่งขันการส่งออกกับไทย เช่น อัญมณี และอุปกรณ์ไฟฟ้า ในขณะที่นําเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ฯ จากประเทศมาเลเซียยังคงอันดับ 1
.
ความท้าทายหลักของการส่งออกสินค้าจากไทยมายังออสเตรียยังมาจากตลาดภายในออสเตรียที่มีขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 8.5 ล้านคนและความต้องการสินค้าของผู้นําเข้ามีปริมาณน้อย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงค่าขนส่งและราคาขายผู้ประกอบการออสเตรียโดยส่วนใหญ่เป็น SME จึงนิยมสั่งซื้อจากผู้นําเข้ารายใหญ่จากประเทศอื่นในยุโรป เช่น เยอรมนี หรือ เนเธอเเลนด์ ซึ่งสะดวกกว่า อย่างไรก็ดี โอกาสการพัฒนาด้านการค้าการลงทุนกับออสเตรีย โดยเฉพาะเพื่อเข้าสู่ตลาดอื่น ๆ ในยุโรปตะวันออกยังมีศักยภาพที่น่าสนใจ เนื่องจากออสเตรียถือเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออก
.
สถานเอกอัครราชทูต เเละ คณะผู้เเทนถาวรไทยในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา