เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 นครฉางซาประสบความสําเร็จในการใช้เงินหยวนดิจิทัลชําระภาษี มีวิธีการง่าย สะดวก โดยหลังจากที่ผู้เสียภาษีได้เปิดใช้บริการกระเป๋า “เงินหยวนดิจิทัล” (e-CNY Wallet) แล้ว สามารถเลือกชําระภาษีด้วยเงินหยวนดิจิทัลผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ สํานักงานจัดเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์มณฑลหูหนาน แอปพลิเคชัน Internet Banking หรือ Mobile Banking กรมสรรพากรมณฑลหูหนาน และเคาน์เตอร์ธนาคาร ทําให้ขณะนี้ นครฉางซากลายเป็นเมืองแรกของจีนที่สามารถดําเนินการชําระภาษีด้วยเงินหยวนดิจิทัลได้
.
เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 รัฐบาลมณฑลหูหนานประกาศ “แผนปฏิบัติการเพื่อการปฏิรูป และการจัดการจัดเก็บภาษีของมณฑลหูหนานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น” ซึ่งในแผนดังกล่าวระบุว่า ในฐานะที่นครฉางซาได้รับอนุมัติให้เป็น “เมืองนําร่องการใช้หยวนดิจิทัล” และดําเนินการศึกษาการประยุกต์ใช้เงินหยวนดิจิทัลกับงานปฏิรูปการชําระภาษี ประกันสุขภาพและประกันสังคม ก่อนสิ้นปี 2564 กรมสรรพากรนครฉางซาจึงได้ประสานงานกับสถาบันการเงินรายใหญ่ของจีน 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชย์ (ICBC) ธนาคารเพื่อการเกษตร (ABC) ธนาคารแห่งประเทศจีน (BOC) ธนาคารเพื่อการก่อสร้าง (CCB) ธนาคารเพื่อการสื่อสาร (Bank of Communication) และธนาคารไปรษณีย์และออมสิน (PSBC) รวมถึงธนาคารท้องถิ่น อย่างธนาคารนครฉางซา เพื่อร่วมกันนําร่องการชําระภาษีด้วยเงินหยวนดิจิทัลอย่างจริงจัง และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมา กรมสรรพากรแห่งนครฉางซาได้ทํางานร่วมกับหน่วยงานหลายฝ่าย เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการชําระภาษีด้วยเงินหยวนดิจิทัลในทุกขั้นตอนมาอย่างต่อเนื่องจนประสบผลสําเร็จ
.
จุดเด่นของการชําระภาษีด้วยเงินหยวนดิจิทัล นอกจากมีความถูกต้อง ปลอดภัย และประหยัดต้นทุนแล้ว ขั้นตอนการชําระภาษีโดยเฉพาะจํานวนภาษีที่มีมูลค่าสูง ยังมีความสะดวกและรวดเร็วกว่าการชําระภาษีแบบดั้งเดิมซึ่งมีความซับซ้อน นอกจากนี้ ยังเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสําหรับอนาคตเพื่อการตรวจสอบและจัดการกับผู้หลีกเลี่ยงภาษีอีกด้วย
.
เป็นที่ทราบกันดีว่าจีนเป็น cashless society ที่ประชากรน้อยกว่า 20% ยังคงใช้เงินสดอยู่ ในขณะที่ไทยค่อย ๆ มีจำนวนผู้ใช้เงินสดน้อยลงเช่นกัน ซึ่งการที่นครฉางซาประกาศให้สามารถใช้เงินหยวนจ่ายภาษีได้แล้วนี้ เป็นการอำนวนความสะดวกแก่ประชากร นักธุรกิจ และบริษัทในนคร และนักลงทุนต่างชาติได้อย่างมาก อีกทั้งยังรองรับความถูกต้อง และความปลอดภัย แม้กับเงินในจำนวนที่สูง สิ่งนี้นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญของวงการเทคโนโลยีทางการเงินของจีน ที่จะค่อย ๆ ขยับขยายไปในมณฑลต่าง ๆ ในเร็ว ๆ นี้อีกอย่างแน่นอน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวและศึกษานโยบาย กฎเกณฑ์ และการประยุกต์ใช้เงินดิจิทัล เพื่อให้ปรับตัวได้ทันกับยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่จีน แต่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ได้เริ่มมีการพัฒนาเงินดิจิทัลแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ จีนยังได้เตรียมหารือเรื่องการยกระดับระบบการชำระเงินระหว่างประเทศในการประชุม G20 อีกด้วย การพัฒนาเงินดิจิทัลจึงอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ผู้ประกอบการไทยควรจับตาการพัฒนา ‘เงินบาทดิจิทัล’ ให้ดี เพราะจะกลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกทางการเงินที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศในอนาคต และสามารถต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมในทุกสาขาด้วย
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง