การนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles – EVs) ในเนปาลได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หลังจากที่รัฐบาลเนปาลประกาศลดภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้า EVs ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ ค.ศ. 2021/2022 รวมถึงยกเลิกภาษีสรรพสามิต ภายใต้นโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยการนำเข้า EVs ผ่านทางด่าน Birgunj ระหว่างกลางเดือนกรกฎาคม ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 8 คัน ซึ่งมีมูลค่า 189 ล้านรูปีเนปาล มาอยู่ที่ 290 คัน รวมมูลค่า 892.5 ล้านรูปีเนปาล ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา
.
ที่ผ่านมา นาย Yuba Raj Khatiwada รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเก็บภาษีศุลกากรและสรรพสามิตที่สูง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการนำเข้า EVs และการที่เนปาลมีการผลิตไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น แต่กลับมีการบริโภคที่ไม่มากนัก รัฐบาลเนปาลจึงมีมติให้ปรับลดภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้า EVs จาก 80% ในปีงบประมาณ ค.ศ. 2020/2021 เหลือเพียง 10 – 40% ในปีงบประมาณ ค.ศ. 2021/2022 รวมถึงยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งจากเดิมอยู่ที่ 30% ปัจจุบัน ผู้นำเข้า EVs ของเนปาลจะต้องเสียภาษีศุลกากร 10 – 40% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 13% ตามขนาดของ EVs และค่าธรรมเนียมปรับปรุงถนน 5%
.
กล่าวได้ว่า เทรนด์ EVs เป็นอีกหนึ่งสาขาที่น่าจับตามอง และลงทุนเพื่อพัฒนาอย่างมาก เพื่อก้าวไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืนของโลกในอนาคต ดังนั้น ในปัจจุบัน หลายประเทศจึงพยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับ EVs มาโดยตลอด รวมถึงไทยที่กำลังพิจารณานโยบายปรับลดภาษีนำเข้า EVs แบบขั้นบันได และผลักดันมาตรการซื้อ EVs ให้ถึง 3 แสนคัน ภายใน 4 – 5 ปี สำหรับเนปาลเอง เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการผลักดันการใช้ EVs อย่างรวดเร็ว ซึ่งจากนโยบายลดภาษีนำเข้า และยกเลิกภาษีสรรพสามิต ผนวกกับการร่างกฎหมายที่บังคับให้เจ้าหน้าที่ราชการระดับสูงใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในการเดินทาง โดยกระทรวงการขนส่งของเนปาล แสดงถึงความเอาจริงเอาจังในการผลักดันการใช้พลังงานสะอาด และยังถือเป็นการเปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ และนักลงทุนทั่วโลกในการเจรจาการนำเข้า EVs ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เนปาลยังพบปัญหาด้านสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอนัก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาเข้าไปลงทุนในด้านนี้เพื่ออุดช่องว่าง และส่งเสริมการใช้งาน EVs ของเนปาลให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ