ในปัจจุบันที่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรโลกอย่างคุ้มค่า และการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทุกประเทศทั่วโลกเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ประเด็นการรณรงค์ที่เกี่ยวข้องก้าวหน้าไปไกลกว่า ประเด็นเรื่องการลดขยะพลาสติก ไปสู่การผลิตที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือแม้กระทั่งผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิล อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือ การลดปัญหาขยะอาหาร (Food waste) จากอาหารส่วนเกินโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร
.
ในหลายประเทศได้รณรงค์ให้ภาคเอกชนและผู้บริโภคลดการสร้างขยะที่เกิดจากอาหาร โดยในภาคเอกชนได้มีการส่งเสริมให้ภาคการผลิตอาหารปรับวิธีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีอาหารส่วนเกินที่เน่าเสียและต้องถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์
.
ไต้หวันได้ตระหนักถึงปัญหาขยะอาหาร จึงได้พยายามลดปริมาณขยะจากอาหาร โดยร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ของไต้หวันอย่าง 7-11 และ Family Mart ได้ออกนโยบายลดปัญหาขยะอาหารเหลือในแต่ละวัน ด้วยการลดราคาอาหารพร้อมทานที่ผลิตสดสำหรับการบริโภคภายในวันเดียวกัน ประเภทข้าวปั้น ข้าวกล่อง ขนมปัง และเมนูอาหารประเภทเส้นที่ขายไม่หมดและกำลังจะหมดอายุในแต่ละวัน เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคได้บริโภคของที่สดใหม่ในราคาประหยัด และลดขยะอาหารที่จะเกิดจากการขายสินค้าไม่หมดทันเวลาบริโภค
.
โดยนโยบายดังกล่าวได้ทำให้ปริมาณขยะอาหารของไต้หวันลดลงมากถึง 3 เท่าในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากการผลักดันนโยบายลดปริมาณขยะอาหารแล้ว ร้านสะดวกซื้อของไต้หวันก็มีนโยบายสีเขียวอื่น ๆ อีก เช่น การลดใช้ถุงพลาสติก การทำให้ขยะกลายเป็นศูนย์ด้วยการใช้ภาชนะพลาสติกรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารพร้อมทาน โดยที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง Family Mart ในอาคารไทเป 101 ได้เปิดตัวเบนโตะ (ข้าวกล่อง) ที่ขายในภาชนะที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งหลังจากลูกค้ารับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ทางร้านจะรวบรวมกล่องข้าวดังกล่าวส่งคืนไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อทำความสะอาด และนำมาใส่อาหารเพื่อวางขายอีกครั้ง โดย Family Mart พยายามเชิญชวนให้ผู้บริโภคตระหนักและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่อย่าง food panda ในไถหนานก็ได้ริเริ่มร่วมมือกับร้านค้าต่าง ๆ หันมาใช้กล่องบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เพื่อส่งเสริมแนวคิดการกลับมาใช้ใหม่
.
การลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับสินค้าประเภทอาหารถึงแม้จะดูเป็นเรื่องยาก แต่ผู้ประกอบการของไต้หวันยังคงให้ความสนใจและเข้าร่วมแนวคิดนี้มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการที่ไต้หวันมุ่งเน้นผลักดันนโยบายเชิงสีเขียวให้เป็นเรื่องทั่วไป (Normalize) และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเพื่อตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านนโยบายต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการลดขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาอยู่
.
การใช้ดำเนินนโยบายสีเขียวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกมีบทบาทสำคัญในการลดปริมาณการใช้พลาสติก และขยะพลาสติก ตราบใดที่อุตสาหกรรมค้าปลีกมองเห็นถึงปัญหาและพยายามมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาย่อมส่งผลบวกต่อความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย
.
สำนักงานการค้าเเละเศรษฐกิจไทย