ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2559 – 2564) สปป. ลาวได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone – SEZ) แล้ว 12 แห่งใน 7 แขวง มีบริษัทเข้าไปใช้ประโยชน์ 788 บริษัท มูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกว่า 15.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยบริษัทภายในประเทศ 84 แห่ง บริษัทต่างประเทศ 676 แห่ง และบริษัทร่วมทุน 28 แห่ง สร้างงาน 52,319 ตําแหน่ง นอกจากนี้ สร้างมูลค่าการนําเข้าและส่งออกสินค้ารวมทั้งหมด 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะปี 2564 มีบริษัทเข้ามาลงทุนทั้งหมด 45 แห่ง และมีมูลค่าการนําเข้ากว่า 349 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่วนใหญ่ ได้แก่ เครื่องจักร และวัสดุก่อสร้าง และมีมูลค่าการส่งออกกว่า 376 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
สําหรับ SEZ ในสปป. ลาวที่มีการพัฒนาโดดเด่น ได้แก่ สะหวัน – เซโน (โซน C) ไซเสดถา เวียงจันทน์ – โนนทอง บ่อเต็นแดนงาม สามเหลี่ยมคํา บึงกาดหลวง และจําปาสัก (โซนปากเซ – ญี่ปุ่น) นอกจากนี้ สปป. ลาวยังอยู่ระหว่างการพัฒนาท่าบกจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ (1) สะหวัน – เซโน (2) เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค และ (3) วังเต่า – โพนทอง และพัฒนาศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้า (ICD) 2 แห่ง ได้แก่ บ่อเต็นแดนงาม และท่าแขก และสปป. ลาวยังอยู่ระหว่างพัฒนา และแก้ไขปัญหาและอุปสรรคใน SEZ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of doing business) ได้แก่ (1) การดําเนินการตามสัญญาสัมปทานในบาง SEZ ที่พบอุปสรรคขาดแหล่งทุน การทําการตลาด และขาดคู่ร่วมธุรกิจ (2) การจัดเก็บรายได้จากแหล่งต่าง ๆ ที่ยังไม่ครบถ้วน (3) การขาดแคลนแรงงานลาว (4) กลไก one stop service ของ SEZ (5) ปัญหาที่ดินในบางพื้นที่ (6) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ (7) การปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานใน SEZ บางแห่ง
.
อย่างไรก็ดี สปป.ลาวยังมีความโดดเด่นในด้านความเชื่อมโยง (Connectivity) ที่น่าจับตามอง หลังจากทางรถไฟลาว – จีนเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 และต่อมา บริษัทจำกัด เวียงจันทน์ โลจิสติกส์ พาร์ค ได้จัดพิธีเปิดใช้ด่านสากลท่าบกท่านาแล้งสําหรับสินค้า และเขตโลจิสติกส์ครบวงจร นครหลวงเวียงจันทน์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 โดยได้มีการปล่อยขบวนรถขนส่งสินค้ารอบปฐมฤกษ์จํานวน 12 ตู้คอนเทนเนอร์ไปยังเวียดนาม ไทย และ กัมพูชาด้วย โครงการดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ที่เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ และครอบคลุมพื้นที่เมืองไซเสดถา บนพื้นที่สัมปทาน 382 เฮกตาร์ โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การสร้างท่าบก และการสร้างเขตโลจิสติกส์ครบวงจร ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการสร้างท่าบก 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการสร้างเขตโลจิสติกส์ 574 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลงทุนของภาคเอกชนลาวทั้งหมด และคาดว่าจะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของโครงการจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 2 ปี ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางด้านการค้า การขนส่งของสปป. ลาว พร้อมทั้งดึงดูดและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตและทําการค้าในสปป. ลาว ได้มากยิ่งขึ้น
.
สปป. ลาว นับเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ จนขึ้นชื่อว่าเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ซึ่งไทยเคยเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในลาว ก่อนจะลงมาอยู่ที่อันดับ 3 แต่กระนั้นก็ยังมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อสปป. ลาวอย่างมาก โดยไทยยังได้เปรียบประเทศอื่น ๆ จากการที่มีภูมิประเทศติดกัน ทำให้สามารถติดต่อลงทุนกันสะดวก ซึ่งในด้านของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจเข้าไปลงทุนทางตรง หรือเจรจาร่วมสัมปทานพื้นที่กับภาครัฐของสปป. ลาว เนื่องจากยังมีความต้องการแหล่งเงินทุนในการพัฒนาอีกมาก ส่วนในด้านของความเชื่อมโยง ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาใช้เส้นทางด่านสากลท่าบกท่านาแล้ง เพื่อขนส่งสินค้าเข้า-ออกอย่างครบวงจร และยังสามารถเชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และกัมพูชาได้ด้วย นอกจากการลงทุนในด้านดังกล่าวแล้ว การลงทุนและพัฒนาในเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าเกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยวยังเป็นอีกด้านที่น่าสนใจ เนื่องจากสปป. ลาวยังขาดความเชี่ยวชาญในด้านเหล่านี้ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะสามารถต่อยอดในการดึงชาวต่างชาติมาลงทุนในเขตเศรษฐกิจดังกล่าวได้มากขึ้น
.
อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการควรติดตาม คือการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement – ITA) ของสปป. ลาว ภายใต้กรอบ WTO ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมบทบาทของสปป. ลาว ในเวทีระหว่างประเทศแล้ว สปป. ลาวยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในการนําเข้าสินค้าและส่วนประกอบด้าน IT จากประเทศสมาชิกเพื่อนํามาผลิตสินค้าด้าน IT อีกทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน IT เพื่อนําไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล นี่จึงเป็นอีกช่องทางการลงทุนของภาคเอกชนไทยด้านการผลิตสินค้า IT ที่จะสามารถขยายฐานการผลิตมาใน สปป. ลาว โดยใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การใช้ประโยชน์จากรถไฟ ลาว – จีนในการขนส่งสินค้า เป็นต้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์