ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกอาหารของโปแลนด์มีการขยายตัวกว่า 3 เท่า โดยผู้ประกอบการโปแลนด์ได้เร่งปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่สูงของ EU ซึ่งทั้งไทยและโปแลนด์ต่างเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านอาหาร ซึ่งเปรียบเสมือนฝาแฝดของกันและกัน โดยไทยได้รับฉายาว่าเป็น ‘Kitchen of the world’ ขณะที่โปแลนด์เป็นผู้ผลิต และส่งออกอาหารลำดับต้น ๆ ของยุโรป โดยมีมูลค่าการส่งออกอาหารถึง 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ในปี 2564 และมีบริษัทรายใหญ่ของไทย เช่น CP Thai Union ได้เข้ามาร่วมทุนในสาขาอาหารในโปแลนด์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความร่วมมือด้านอาหารระหว่างประเทศที่ดี
.
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 Polish Investment and Trade Agency (PAIH) ร่วมกับบริษัท Techsauce จัดงานสัมมนาในหัวข้อ ‘Food for the future: The foodtech scene in Poland and Thailand’ มุ่งตอบโจทย์สร้างโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจ บทบาทของเทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืนและแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยเทคโนโลยีอาหารระหว่างภาคเอกชนไทยและโปแลนด์ในสาขาอาหารและเทคโนโลยีอาหาร โดย ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม Thai Union กล่าวว่า ไทยมีมูลค่าของสินค้าส่งออกอยู่ลำดับที่ 5 ของโลก โดยมันสำปะหลัง ปลาทูน่า และสับปะรดกระป๋อง ล้วนส่งออกเป็นอันดับ 1 ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 และส่งออกน้ำตาล/อ้อยเป็นอันดับ 3 อีกทั้งยังเป็นฐานการผลิตสินค้าอาหารสำหรับตลาด CLMVT อาเซียน และตลาดเอเชียที่สำคัญ ส่วนในมุมมองของอาหารสำหรับอนาคตยังมีสาขาที่น่าสนใจ เช่น อาหารเพื่อการแพทย์ อาหารฟังก์ชัน (functional food) อาหารอินทรีย์ และอาหารประเภทใหม่ (novel food) ขณะที่นาย Piotr Grabowksi และนาย Michal Piosik ผู้ก่อตั้ง foodtech.ac สัญชาติโปแลนด์ กล่าวว่า foodtech.ac เป็นคันเร่งด้านเทคโนโลยีอาหารและเกษตรกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวในโปแลนด์ โดยทำการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่มีความโดดเด่นในสาขาอาหารและเกษตรกว่า 300 ราย เช่น บริษัท Frens ผู้ผลิตอาหารสุนัขจากโปรตีนแมลง บริษัท KuMin.Sys ผู้ใช้ระบบ IT ในการวางแผนการประกอบอาหารและลดขยะ บริษัท myEgg ผู้ผลิตโปรตีนเหลวแทนไข่ไก่
.
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยและโปแลนด์ มีความสนใจพิจารณาที่คล้ายกัน โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนา 9 สาขา ได้แก่ สุขภาพ (health & wellness) โปรตีนทางเลือก อาหารใหม่ ความปลอดภัยและการปรับปรุงคุณภาพอาหาร การบรรจุหีบห่อ เคมีชีวภาพและเคมีภัณฑ์ การผลิตแบบสมัยใหม่ (smart manufacturing) การให้บริการอาหารสมัยใหม่ (smart food service) และเทคโนโลยีสำหรับร้านอาหาร ส่วนโปแลนด์เน้นการลงทุนด้านอาหารในอนาคตถึง 10 สาขา ได้แก่ โปรตีนทางเลือก เทคโนโลยีการเกษตร การบรรจุหีบห่อ หลักการตรวจสอบกลับ (traceability) การลดการสูญเสียอาหาร การปรับปรุงกระบวนการผลิต การใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิต การลดน้ำตาลและเกลือ การลดอาหารแปรรูป และการส่งเสริมความเข้มแข็งทางกายภาพและจิตใจ โดยมีบริษัทสตาร์ทอัพไทย และโปแลนด์ที่ลงทุนด้านนี้อย่างหลากหลาย เช่น การป้องกันเชื้อโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ การเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การผลิตสินค้าแทนเนื้อไก่จากถั่ว การผลิตสินค้าโยเกิร์ตจากถั่วขาว การผลิตสินค้าทดแทนเนื้อวัวจากถั่วเขียวและถั่วเหลือง เป็นต้น
.
การเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหารในโปแลนด์สะท้อนถึงรสนิยมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ที่ซื้อสินค้าแทนเนื้อสัตว์ ร้อยละ 93 เป็นผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์เป็นประจำดังนั้น ตลาดสำหรับสินค้าประเภทนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่กับเฉพาะผู้บริโภคอาหารเจหรือมังสวิรัติเท่านั้น ดังนั้น อาหารสุขภาพและโปรตีนแทนเนื้อสัตว์จึงอาจเป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทย การพัฒนาโปรตีนจากแมลงยังเป็นอีกทางเลือกที่สนใจ เนื่องจากคนไทยนิยมรับประทานแมลง และมีชื่อเสียงในการนำแมลงมาปรุงอาหารสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งจิ้งหรีดเป็นหนึ่งแมลงชนิดหนึ่งที่มีการวิจัยว่ามีโปรตีนสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการเพาะเลี้ยงเพื่อการบริโภคมากกว่าสุกรหรือโค เพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยกว่ามาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรปรับภาชนะและเปลี่ยนบรจจุภัณฑ์อาหารในการส่งออก ให้สามารถย่อยสลายและรีไซเคิลได้ เพื่อเสริมจุดแข็งด้านความเป็นมิตรและความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมของไทย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ