1. เวียดนามเร่งเชื่อมโยงภาคการเกษตรระหว่าง 13 จังหวัดภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
.
เมื่อ 14 กันยายน 2564 นาย Le Minh Hoan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทกล่าวในงานสัมมนา “การเชื่อมโยงอุปทานและอุปสงค์สินค้าเกษตรระหว่างจังหวัดในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกับนครโฮจิมินห์” ว่า ต้องมีการพิจารณาประเด็นสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกับนครโฮจิมินห์ และบทบาทของผู้ค้าในการจัดซื้อสินค้าเกษตรและสัตว์น้ำของภูมิภาค ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้แสดงให้เห็นว่าทั้ง 13 จังหวัดและนคร ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงขาดการเชื่อมโยงเนื่องจากมีการแบ่งแยกตามการปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 13 จังหวัดและนคร จึงควรถูกมองในฐานะหนึ่งหน่วยเศรษฐกิจและควรให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้ค้ามากขึ้น
.
2. การไฟฟ้าเวียดนามลดการรับซื้อไฟฟ้าเนื่องจากการบริโภคลดลง
.
หน่วยงาน Electricity Regulatory Authority of Vietnam (A0) ให้ข้อมูลว่า ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกันยายน 2564 เวียดนามมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยเวียดนามมีกำลังการผลิตไฟฟ้าต่อวันสูงสุด 29,700 MW ในขณะที่มีปริมาณจ่ายไฟ 624.3 kWh/วัน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับกำลังผลิตให้เป็นไปตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ และลดปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ EVN จึงขอให้โรงไฟฟ้าร่วมมือกับหน่วยงาน A0 เพื่อรักษาการดำเนินการของโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง
.
3. เวียดนามติด 1 ใน 50 อันดับดัชนีนวัตกรรมโลกปี 2564
.
ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index: GII) ล่าสุดพบว่า เวียดนามอยู่ในลำดับที่ 44 จาก 132 เขตเศรษฐกิจเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งถือว่ามีพัฒนาการที่ดีเมื่อเทียบกับอันดับเฉลี่ยที่ 68 ช่วงปี 2555-2558 และยังมีคะแนนด้านศักยภาพทางการตลาดและศักยภาพทางธุรกิจสูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง รองจากไทย แต่สูงกว่ารัสเซีย และอินเดีย
.
4. ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนามยังคงเป็นแหล่งดึงดูด FDI
.
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีจังหวัดและนครของเวียดนามได้รับ FDI ถึง 58 จังหวัดและนคร จากทั้งหมด 63 จังหวัดและนคร โดย จังหวัดล็องอาน สามารถดึงดูด FDI ได้มากที่สุด มูลค่ากว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือนครโฮจิมินห์ มูลค่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจังหวัดบิ่ญเซือง มูลค่าประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน จังหวัดด่งนายสามารถดึงดูด FD ได้ประมาณ 946 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 35 โดยนาย Le Van Danh รองผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรม จังหวัดด่งนาย เน้นว่า นักลงทุนต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในจังหวัดด่งนายและภูมิภาคตอนใต้ของเวียดนาม
.
5. ผลกระทบจากมาตรการ lockdown ต่อภาคค้าปลีกในเวียดนาม
.
มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เวียดนาม บังคับใช้อย่างเข้มงวดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผู้ค้าปลีกต่างชาติ โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่ต้องพึ่งพิงกำลังการผลิตจากเวียดนาม เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ในเวียดนามมีเพียง 2 ทางเลือก ได้แก่ การให้แรงงานอาศัยอยู่ในพื้นที่ทำงานเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้ หรือหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว และสำหรับบริษัทที่ยังคงดำเนินการก็ประสบกับภาวะการหยุดชะงักและความล่าช้าของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าและเครื่องนุ่งห่ม ส่งผลกระทบต่อหลายบริษัท อาทิ Nike และ Lululemon
.
ปัจจุบัน อุปสรรคในห่วงโซ่การผลิตที่เกิดขึ้นในเวียดนาม อาทิ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ สินค้าตกค้างที่ท่าเรือ และจำนวนพนักงานขับรถบรรทุกที่มีจำกัด ทำให้ธุรกิจหลายแห่งจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจรวมถึงการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นรวมถึงกลับไปยังจีนด้วย แม้ว่าจีนจะได้รับผลกระทบการมาตรการกีดกันทางภาษีก็ตาม
.
จะเห็นได้ว่าประเทศเวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และสามารถดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากการเป็นแหล่งพื้นที่ที่ดึงดูด FDI จากผู้ประกอบการต่างชาติได้สูงที่สุดในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีชนิดใหม่ ๆ ไม่ว่าจะในภาคการเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น เวียดนามจึงถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่วางแผนจะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมการเกษตรที่ไทยมีศักยภาพกับภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่รัฐบาลเวียดนามกำลังให้การสนับสนุนอยู่ในช่วงนี้ เพื่อช่วยพัฒนาเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในภาคธุรกิจต่อไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์