- นโยบายด้านเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มั่นใจว่า GDP ของสิงคโปร์จะเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 6 – 7 ตามที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม สิงคโปร์ (MTI) ประเมินไว้ เนื่องจากสิงคโปร์สามารถควบคุมโรคระบาดได้ค่อนข้างดีและมีอัตราการฉีดวัคซีนที่รวดเร็ว ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของสิงคโปร์ทั่วโลกฟื้นตัวได้ดีในปีนี้
.
อย่างไรก็ตาม รายงานเศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ของ MTI สะท้อนว่าสิงคโปร์ตั้งเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่ใช่เพียงเปรียบเทียบกับปี 2563 ซึ่งเศรษฐกิจสิงคโปร์ตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่เป็นการเปรียบเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจในช่วงก่อน COVID-19 ดังนั้น สิงคโปร์ยังคงต้องเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยสร้างความสมดุลระหว่างการดำเนินมาตรการควบคุมโรคระบาดกับการเปิดเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง
.
เพื่อรักษาสถานะในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ทั้งด้านการเงิน การธนาคาร เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคสิงคโปร์ จำเป็นต้องเปิดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจในสิงคโปร์ เนื่องจากการไม่เปิดประเทศจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความไม่สะดวกของนักลงทุนและนักธุรกิจจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สิงคโปร์จะยังคงส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจ Startups และ SMES โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทของสิงคโปร์ อาทิ Carro ประสบความสำเร็จในการเป็น Unicom รายใหม่ของภูมิภาค และ บริษัท Secretlab และ Carousell ซึ่งขยายตลาดในต่างประเทศได้ดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นถึงบทบาทของ Enterprise Singapore (ESG) ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการสิงคโปร์ในต่างประเทศ
.
ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของ Economic Development Board (EDB) ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งสาขาธุรกิจที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญในปีนี้ ได้แก่ (1) สาธารณสุขและวัคซีนป้องกัน COVID-19 คือ การจัดตั้งธุรกิจของ BioNTech เพื่อจำหน่ายวัคซีน Pfizer ในสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงปี 2565 หรือต้นปี 2566 (2) เซมิคอนดักเตอร์ บริษัท GlobalFoundries ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ขยายการผลิตในสิงคโปร์ และ (3) สารสนเทศและสื่อสารในช่วงหลัง COVID-19 โดยเชิญชวนบริษัท Zoom ให้เปิดศูนย์ R&D แห่งใหม่แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สะท้อนว่าสิงคโปร์ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโรคระบาด (post-pandemic era) ให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและวิธีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่
.
- นโยบายด้านแรงงาน
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ตระหนักดีว่า ปัญหาการว่างงานของคนชาติสิงคโปร์ ค่อนข้างรุนแรงในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีผลโดยตรงต่อความนิยมที่ลดลงต่อพรรค PAP และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของการเมืองสิงคโปร์ ในระยะยาว ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงจำเป็นต้องออกนโยบายส่งเสริมการจ้างงานคนชาติสิงคโปร์ที่มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่โครงการจ่ายเงินเดือนแก่แรงงานที่เป็นคนชาติ (Job Support Scheme) การเพิ่มพูนและเสริมทักษะ (upskill/reskil) และการระงับการออกหรือต่ออายุใบอนุญาตทำงานแก่คนต่างชาติ ซึ่งมีมาตรการสำคัญในการช่วยเหลือแรงงานที่เป็นคนชาติสิงคโปร์ใน 2 กลุ่มสำคัญ ได้แก่
.
2.1 การช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำ (Lower-wage workers – LWWs)
ได้แก่ (1) การคิดเงินเดือนแบบ Progressive Wages ให้ครอบคลุม LWW ในทุกสาขาอาชีพ ทั้งการค้าปลีก บริการอาหาร การจัดการขยะ ผู้ช่วยธุรการ และพนักงานขับรถ (2) การออกกฎระเบียบให้ บริษัทที่จ้างงานคนต่างชาติต้องจ่ายเงินเดือนให้คนงานที่เป็นคนชาติสิงคโปร์ (Local Qualifying Salary) จำนวน 1,400 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ (3) การจัดทำเครื่องหมาย Progressive Wage Mark เพื่อทำให้ผู้บริโภคสนับสนุนบริษัทที่จ่ายค่าจ้างแบบ Progressive Wages ให้กับพนักงานทุกคนมากขึ้น
.
2.2 การช่วยเหลือผู้มีรายได้ปานกลาง โดยการยกระดับกฎหมายการจ้างงานที่เป็นธรรมภายใต้ TAFEP
นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยอมรับและพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนว่าระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในภาคการเงินและการธนาคาร อย่างไรก็ตาม กระแสความกังวลของคนชาติสิงคโปร์ผู้มีรายได้ปานกลางต่อการถูกชาวต่างชาติแย่งงานยังคงไม่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ยกระดับ Fair Consideration Framework (FCF) ของ TAFEP โดยตราเป็นกฎหมาย ซึ่งหากพิจารณาในหลักการ FCF มีไว้เพื่อป้องกันปัญหาการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานทั้งด้านเพศ ภาษา อายุ ความพิการ และเชื้อชาติ แต่ในทางปฏิบัติ TAFEP ร่วมกับแรงงานสิงคโปร์ได้ใช้กลไก FCF ในการควบคุมการจ้างงานชาวต่างชาติ โดยบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชี FCF Watch List จะถูกชะลอการต่ออายุใบอนุญาตทำงานแก่พนักงานต่างชาติ และจะไม่พิจารณาคำขอใบอนุญาตฯ แก่พนักงานต่างชาติตำแหน่งใหม่ นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนให้คนชาติสิงคโปร์ในภาคการเงินไปทำงานในต่างประเทศด้วย
.
เป็นที่น่าสนใจว่า นโยบายด้านการจ้างงานและมาตรการทางการเงินและภาษีของรัฐบาลสิงคโปร์ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 สร้างข้อจำกัดและอาจเพิ่มต้นทุนแก่บริษัทต่างชาติในสิงคโปร์ซึ่งในที่สุด ประเด็นนี้อาจส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับภูมิภาค โดยบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ อาจเริ่มศึกษาทางเลือกอื่น ๆ เช่น การย้ายสำนักงานไปยังประเทศที่มีความพร้อมและมีสิทธิประโยชน์ในการลงทุนมากกว่า ดังนั้น หากไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีทำเลที่ตั้งโดดเด่นในภูมิภาค สามารถพัฒนา eco -system ทางธุรกิจและปรับปรุงกฎระเบียบภายในทั้งด้านธุรกิจและแรงงานให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติเช่นเดียวกับสิงคโปร์ได้ จึงอาจจะเป็นผลดีของประเทศไทยที่น่าจะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว นอกไปจากนี้ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เทคโนโลยีสตาร์ทอัพ ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ หรืออุตสาหกรรมด้านสาธารณสุข อาจสามารถศึกษาแนวทางการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของประเทศสิงคโปร์และพิจารณาการร่วมลงทุนกันต่อไปได้ในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์