ในปี 2563 ภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง 1.9% จากที่เคยเติบโต 3.2% ในปี 2562 และในปี 2563 การเติบโตทางเศรษฐกิจของเคนยาหดตัวลง 0.3% จากที่เคยเติบโต 5% ในปี 2562 โดยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมาก นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงถึง 71.5% รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 43.9% และรายได้จากภาคการคมนาคมขนส่ง ทั้งการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เรือ และอากาศ ลดลงอย่างมากเช่นเดียวกัน
.
อย่างไรก็ดี ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของเคนยา ได้แก่ ภาคการเกษตร ป่าไม้ และประมง เติบโตขึ้น 4.8% ในปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากนโยบายเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ชา (+24.1%) ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ข้าว (+12%) ข้าวฟ่าง (+10.6%) ถั่ว รวมทั้งปศุสัตว์และสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ภาคการก่อสร้างมีการขยายตัวเช่นกันในปี 2563 ที่อัตรา 11.8% จาก 5.6% ในปี 2562 ซึ่งสะท้อนถึงการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่เป็นปัจจัยที่ทำให้ความต้องการซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น สำหรับภาคสาธารณสุขขยายตัว 6.7% ภาคการเงินและประกันภัยเติบโตขึ้น 5.6% และภาคการโทรคมนาคมเติบโต 4.8% ภาคการผลิตหดตัวลง 0.1% ในปี 2563 เทียบกับอัตราการเติบโต 2.5% ในปี 2562 โดยมีเพียงการผลิตน้ำตาลและชีเมนต์ที่มีการขยายตัว ส่วนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ลดลง ธุรกิจค้าปลีกหดตัว 0.4% ธุรกิจโรงแรมและอาหารหดตัว 47.7%
.
อัตราการจ้างงานลดลง 4.1% ในปี 2563 โดยประมาณ 80% เป็นการจ้างงานนอกระบบ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.4% จาก 5.3% ในปี 2562 โดยการระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดอุปสรรคต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
.
สำหรับการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5.6% จึงอาจส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวสูงขึ้นประมาณ 8% จากที่ติดลบในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าของเคนยาที่จะสามารถขยายตัวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้นตามตลาดโลกที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเคนยา ตลอดจนจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงอย่างต่อเนื่องในปี 2564 เนื่องจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะภาคพลังงานและคมนาคม ในขณะที่คาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคการผลิต และการขนส่งสินค้าจะฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้
.
จะเห็นได้ว่า ในภาพรวม ถึงแม้เศรษฐกิจเคนยายังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อยู่ แต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในบางอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร การก่อสร้าง และสาธารณสุข นอกจากนี้ ในปี 2565 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเคนยา ทำให้รัฐบาลเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เห็นเป็นรูปธรรม เพิ่มการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาด้านสาธารณสุข และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ทำให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกวัสดุก่อสร้าง การขยายตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมไปถึงสินค้าอาหาร โดยเฉพาะอาหารแปรรูปต่าง ๆ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี