กระทรวงการก่อสร้างเวียดนาม ร่วมกับหอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม และกองทุน Friedrich Nauman Foundation ได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาขั้นตอนการดำเนินการของภาครัฐในการอนุมัติโครงการก่อสร้าง เพื่อให้กระทรวงการก่อสร้างเวียดนามนำไปพิจารณาปรับสภาพแวดล้อมทางการลงทุนและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ
.
โดยหลังจากที่ผู้วิจัยได้จัดทำแบบสำรวจโดยให้ผู้ประกอบการประเมินความพึงพอใจเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการเพื่อออกใบอนุญาตการก่อสร้าง 13 ราย พบว่า ผู้ประกอบการประสบความยากลำบากในขั้นตอนเกี่ยวกับที่ดิน และการทำ land clearance มากที่สุด (ร้อยละ 58) รองลงมา ได้แก่ ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับแผนการก่อสร้าง และแผนต้านเขตมือง (ร้อยละ 52) มิติด้านแนวทางการลงทุน (ร้อยละ 44) และการพิจารณาแบบการก่อสร้าง (ร้อยละ 40) ในส่วนขั้นตอนอื่น ๆ พบว่า มีผู้ประกอบการส่วนน้อยที่ประสบปัญหา โดยดัชนีที่ได้รับคะแนนดีที่สุด (ผู้เข้าร่วมเห็นว่ามีปัญหาน้อยที่สุด) คือ การจ่ายน้ำและระบบระบายน้ำ (ร้อยละ 24) การวิจัยพบว่า การรับเรื่องขออนุญาตก่อสร้างและระยะเวลาพิจารณาอนุญาตอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยระยะเวลารอรับใบอนุญาตเฉลี่ย 25 วัน ขณะที่ระยะเวลาพิจารณาสั้นที่สุด คือ 5 วัน และยาวที่สุด คือ 90 วัน นอกจากนี้ ดัชนีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นทางการอยู่ในระดับที่ดีขึ้น โดยมีเพียงร้อยละ 31 ที่เห็นว่า ยังเป็นปัญหา ซึ่งผู้วิจัยก็ได้เสนอว่า
.
- ควรมีการจัดทำเอกสารประมวลข้อมูลขั้นตอนการดำเนินการ/ขั้นตอนทางธุรการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับสาขาการก่อสร้าง
- จัดทำเว็บไซต์สำหรับเผยแพร่ข้อมูลและรับข้อคำถามด้านการอนุญาตการก่อสร้าง
- ปรับใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการรับเรื่องและติดตามผลผ่านระบบออนไลน์ อนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินการดำเนินการของข้าราชการผู้รับผิดชอบได้ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการรับเรื่องและพิจารณาอนุญาตการก่อสร้าง
- จัดทำกลไกความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถรับเรื่องและดำเนินการได้ในช่วงเวลาเดียวกัน
- จัดทำวิจัยเพื่อหาแนวทางลดระยะเวลาแท้จริงที่ใช้สำหรับชั้นตอนต่าง ๆ ในการอนุญาตการก่อสร้าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลา
- พัฒนาระบบการขำระค่ารรรมเนียมออนไลน์ และจัดทำกลไกตรวจสอบที่ตรงตามความเป็นจริง เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นทางการ
.
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันทางธนาคารโลกจะประเมินให้แนวทางการอนุมัติการก่อสร้างของเวียดนามอยู่ในระดับที่ดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นก็ยังไม่ได้รับการประเมินอย่างจริงจัง ซึ่งสำหรับภาคเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน โดยกรณีบริษัท WHA ของไทยที่ไปลงทุนในจังหวัดเหะอานนั้นก็มีความคืบหน้าน้อยมาก ในขณะที่เซ็นทรัลกรุ๊ปที่เข้าซื้อกิจการของ Big C ในเวียดนาม และลงทุนก่อสร้างห้าง Big C ในจังหวัดถายเหงียนนั้นก็ประสบปัญหามาประมาณ 1 เดือนกว่าแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขั้นตอนการเข้าไปลงทุนก่อสร้างในเวียดนามสำหรับผู้ประกอบการไทยนั้นยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนก่อสร้างในเวียดนามต้องมีการเตรียมความพร้อมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านทรัพยากรต่าง ๆ และการติดตามนโนบายของรัฐบาลเวียดนามที่อาจมีการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย