หากพูดถึงสวรรค์ของนักท่องเที่ยว เราคงต้องนึกถึงหาดทรายสีขาว อาหารที่อร่อย โรงแรมสวย ๆ และที่ขาดไม่ได้ คือ “การช้อปปิ้ง” ซึ่งมณฑลไห่หนานได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นการจับจ่ายสินค้าในร้านสินค้าปลอดภาษี โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงการคลังจีน (Ministry of Finance) ทบวงศุลกากรจีน (General Administration of Customs) และสำนักงานจัดการภาษีจีน (State Taxation Administration) ได้ประกาศเพิ่มโควตาการจับจ่ายสินค้าปลอดภาษีในมณฑลไห่หนาน โดยนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเดินทางมายังมณฑลไห่หนาน (ปี 2562 มีชาวจีนไปท่องเที่ยวประมาณ 82 ล้านคน) สามารถจับจ่ายสินค้าในร้านสินค้าปลอดภาษีในมณฑลไห่หนานโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางออกนอกจีนได้สูงสุดคนละ 100,000 หยวน (460,000 บาท) ต่อปี จากเดิม 30,000 หยวน (138,000 บาท) ซึ่งนโยบายดังกล่าวช่วยกระตุ้นความต้องการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมณฑลไห่หนานเป็นอย่างมาก สามารถดึงดูดคนจีนที่ต้องการจับจ่ายในต่างประเทศให้หันกลับมาจับจ่ายสินค้าในประเทศเพื่อลดการขาดดุลการค้าในภาคบริการ และมีส่วนช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์การหมุนเวียนสองระบบ (dual circulation strategy) ซึ่งเน้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งจะทำให้มณฑลไห่หนานก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบริโภคด้านการท่องเที่ยวระดับโลก (international tourism consumption center) ต่อไปในอนาคตที่จะสามารถเชื่อมโยงกับนโยบายเปิดเสรีภาพด้านการบินที่ 7
ทิศทางและแนวโน้มของตลาดสินค้าปลอดภาษีในจีนและมณฑลไห่หนาน
นายชาร์ลส์ เฉิน ประธานกลุ่มบริษัท China Duty Free Group (CDFG) ได้กล่าวในงาน TFWA China Reborn ที่จัดขึ้นทางออนไลน์ว่า ตลาดสินค้าปลอดภาษีจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคยุคใหม่จากเมืองรองระดับ tier 2 และ tier 3 (ในระบบของจีน) เริ่มจับจ่ายใช้สอยในตลาดสินค้าปลอดภาษีมากขึ้น และเมื่อปี 2562 ขนาดตลาดสินค้าปลอดภาษีจีนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8 ของขนาดตลาดทั้งหมดทั่วโลก แต่คนจีนจับจ่ายสินค้าปลอดภาษีร้อยละ 40 ของจำนวนสินค้าปลอดภาษีทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งแสดงว่า ตลาดสินค้าปลอดภาษีในจีนมีโอกาสขยายตัวอีกมาก นอกจากนี้ CDFG ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการประกอบธุรกิจโดยเน้นการให้บริการทางพาณิชย์ออนไลน์มากขึ้น เช่น การจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ การรับพรีออเดอร์ และการส่งสินค้าถึงบ้าน เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรค COVID-19
ในส่วนของมณฑลไห่หนาน ภายหลังการประกาศนโยบายเพิ่มโควตาการจับจ่ายสินค้าปลอดภาษี ยอดขายสินค้าปลอดภาษีในมณฑลไห่หนานในระหว่าง 1 ก.ค. – 31 ต.ค. 63 มีมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 214 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2562 และ CDFG ได้ใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวในการเพิ่มแบรนด์และประเภทสินค้าในร้าน โดยนายเฉินเห็นว่า สถานการณ์ช่วงนี้ จะทำให้มณฑลไห่หนานเป็นสถานที่ที่คนจีนเลือกไปเที่ยวในช่วงวันหยุด เนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ และถึงแม้ว่าในปี 2563 จะเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ในช่วง 3 ไตรมาสแรก CDFG มียอดขายลดลงจากปี 2562 ไม่มากนัก แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่สวนกระแสอุตสาหกรรมค้าปลีกทั่วโลก ทั้งนี้ นายเฉินเห็นว่า โดยที่ร้านสินค้าปลอดภาษีในมณฑลไห่หนานยังคงมีสินค้าไม่หลากหลาย และไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจที่จะส่งสินค้าไปวางจำหน่าย
ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ CDFG ประกาศแผนเปิดร้านสินค้าปลอดภาษีเพิ่มอีกแห่งที่นครไหโข่ว ซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลไห่หนานใน 2 – 3 ปีข้างหน้านี้ โดยที่ CDFG เห็นว่า ตลาดค้าปลีกท่องเที่ยวจีนจะสามารถขยายตัวได้ดี ซึ่งบริษัทมีแผนจะเปิดร้านที่เป็นแบรนด์ดังเพิ่ม และให้ความสำคัญกับการเพิ่มสินค้าที่เป็นรุ่นพิเศษ (limited edition) มากขึ้นรวมทั้งจะจำหน่ายสินค้าในราคาที่จะถูกลง ทั้งนี้ ปัจจุบัน CDFG ได้มีกิจการร้านสินค้าปลอดภาษีในมณฑลไห่หนานทั้งหมด 4 แห่ง โดยเปิดที่นครไหโข่ว เมืองซานย่า และเมืองฉงไห่ ซึ่งในปี 2563 ร้านสินค้าปลอดภาษีทั้ง 4 แห่งมียอดขายรวมมากกว่า 30,000 ล้านหยวน (4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมียอดขายต่อวันสูงสุดถึง 120 ล้านหยวน (18.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 200 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยสินค้าที่เป็นที่นิยม คือ เครื่องสำอาง น้ำหอม และเครื่องประดับ
โอกาสสำหรับภาคเอกชนไทย
การประกาศนโยบายขยายร้านสินค้าปลอดภาษีเพิ่มเติมของมณฑลไห่หนานเป็นโอกาสสำหรับสินค้คุณภาพสูง (premium goods) ของไทย ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องหนัง และเครื่องหอม เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังมณฑลไห่หนานเป็นจำนวนมาก และเป็นนโยบายระดับชาติ จึงน่าจะมีคนมาจับจ่ายสินค้าเป็นจำนวนมากและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการไทยที่สนใจอาจทดลองทำการตลาดในเบื้งต้น เพื่อพิจารณาสินค้าที่จะเข้าตลาดให้มีความสอดคล้องกับความต้องการในเรื่องประเภทสินค้า คุณภาพ พฤติกรรมผู้บริโภคจีน รูปลักษณ์หีบห่อ และประเด็นอื่น ๆ เนื่องจากตลาดจีนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และผู้บริโภคจีนมีกำลังใช้จ่ายสูงขึ้น
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว