เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ท่าเรือคายหยางในนครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว เปิดเดินเรือขนส่งสินค้าไปยังนครฉงชิ่งเป็นครั้งแรก ประเดิมด้วยการใช้เรือขนส่งสินค้าขนาด 500 ตัน จำนวน 14 ลำ บรรทุกแร่ฟอสฟอรัสรวม 6,800 ตัน ออกเดินทางจากท่าเรือคายหยางล่องตามแม่น้ำอูเจียงขึ้นเหนือไปยังเขตฝูหลิงของนครฉงชิ่งเพื่อเชื่อมต่อกับแม่น้ำฉางเจียงหรือแม่น้ำแยงซีและไปออกทะเลที่นครเซี่ยงไฮ้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางเลือกสำหรับการขนส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการในมณฑลกุ้ยโจวที่ต้องการ “หาทางออกสู่ทะเล” และหากเปรียบเทียบกับการขนส่งทางรถไฟแล้ว การขนส่งทางเรือในครั้งนี้สามารถลดต้นทุนได้ราว 7 หยวนต่อตัน
.
ในส่วนของท่าเรือคายหยางนั้น ตั้งอยู่ที่อำเภอคายหยางในนครกุ้ยหยาง ห่างจากตัวเมืองกุ้ยหยาง 81 กิโลเมตร และห่างจากนครฉงชิ่ง 590 กิโลเมตร เป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดในจำนวน 13 แห่งบนแม่น้ำอูเจียงตามแผนพัฒนาการขนส่งทางน้ำมณฑลกุ้ยโจวปี 2555 – 2573 และยังเป็นท่าเรือแห่งเดียวของนครกุ้ยหยางที่สามารถขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำเพื่อออกสู่ทะเล
.
สำหรับแม่น้ำอูเจียงถือเป็นแม่น้ำสาขาสายใหญ่หนึ่งใน 8 สายของแม่น้ำฉางเจียง และเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของมณฑลกุ้ยโจว ได้ฉายาว่า “สายน้ำทองคำ” มีความยาวทั้งสิ้น 1,037 กิโลเมตร โดยเป็นความยาวในมณฑลกุ้ยโจว 802 กิโลเมตร ปัจจุบัน มีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำอูเจียงเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าในลักษณะขั้นบันไดที่ลดหลั่นตามระดับความสูงของแม่น้ำที่สร้างเสร็จแล้วจำนวน 11 สถานี และพัฒนาควบคู่ไปกับโครงการปรับปรุงร่องน้ำ ซึ่งทำให้การเดินเรือจากท่าเรือคายหยางไปถึงเขตฝูหลิงของนครฉงชิ่งสามารถรองรับเรือขนาด 500 ตันได้
.
กุ้ยหยางนับเป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกับไทย และมีศักยภาพในการเติบโตทั้งการเกษตร เศรษฐกิจ และมุ่งเน้นการลดต้นทุนภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน โดยมักนำเข้าสินค้าการเกษตรจากไทย เช่น ข้าว ผลไม้ ยาง อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป ซึ่งการที่นครกุ้ยหยางเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าออกสู่ทะเล เป็นโอกาสที่ดีของผู้กระกอบการไทยในการขนส่งสินค้าทางทะเลในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ นครกุ้ยหยางยังได้ขยับขยายการพัฒนาสู่เมืองแห่งเศรษฐกิจดิจิทัลอัจฉริยะ หรือ Smart Digital Guiyang เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนในเมืองให้ดีและทันสมัยขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรรักษาระดับมาตรฐานสินค้าส่งออก และประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และ e-commerce มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าขายกับชาวจีน รวมถึงควรติดตามกฎระเบียบส่งเสริมการค้า การลงทุน ภายหลัง RCEP มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง