Metaverse กับ e-commerce ยุคใหม่
.
หลังจากที่ Facebook ประกาศ rebranding และเปลี่ยนชื่อเป็น Meta เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ได้ทำให้ทั่วโลกตื่นตัวกับกระแส Metaverse ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่บริษัท Meta จะมุ่งมั่นพัฒนาในช่วง 10 – 15 ปีต่อจากนี้ โดยหวังว่า Metaverse จะช่วยยกระดับวงการอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ซึ่งเริ่มชะลอตัว โดยมีหลักสำคัญคือการสร้างประสบการณ์บนโลกอินเทอร์เน็ตให้ใกล้เคียงกับโลกแห่งความเป็นจริงมากที่สุด โดยผู้ใช้สามารถมีส่วนร่วมและได้รับประสบการณ์เสมือนจริงมากกว่าแค่เพียงการมองเท่านั้น นอกจาก Meta แล้ว บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ทั้ง Roblox Microsoft Nvidia Unity Snap Autodesk Tencent Epic Games และ Amazon ก็ได้ลงทุนเพื่อพัฒนา Metaverse ของตนเอง สำหรับนักธุรกิจในสิงคโปร์ก็ให้ความสนใจกับการนำเทคโนโลยี Metaverse มาใช้ส่งเสริมการขายแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น
.
กระแสความนิยม Metaverse จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการบริโภคมากขึ้น นาย Vinnie Lauria ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Golden Gate Ventures ในสิงคโปร์ เห็นว่า Metaverse เป็นจุดเริ่มต้นของ “e-commerce 3.0” โดยสิงคโปร์จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นาย Derek Wang ผู้จัดการทั่วไปบริษัท Alibaba Cloud Intelligence ในสิงคโปร์คาดว่า Metaverse กับ e-commerce สามารถเริ่มต้นในสิงคโปร์และประเทศไทยได้ โดยมี Cloud หรือคลังเก็บข้อมูลออนไลน์ เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักร่วมกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล AI และ IOT ทั้งนี้ Metaverse และการแข่งขันด้านเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Augmented Reality – AR) และภาพเสมือนจริง (Virtual Reality – VR) จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจค้าปลีกก้าวสู่ยุค “hyper-personalization” ที่พฤติกรรมการบริโภค ข้อมูลของลูกค้าแต่ละรายในทุกรูปแบบ ทุกแพลตฟอร์มจะถูกเชื่อมโยง นำมาวิเคราะห์เพื่อให้ธุรกิจทำการตลาดแบบเข้าใจผู้บริโภครายบุคคลมากขึ้น
.
สิงคโปร์เริ่มพัฒนาบริษัทด้าน Metaverse ทั้งในระดับ Start-ups เช่น BUzZAR และระดับ MSMEs โดยนาย Choo แห่งบริษัท True Global Ventures มองว่าสิงคโปร์ซึ่งมีศักยภาพและมุ่งเน้นเทคโนโลยี Blockchain จะเป็นผู้นำใน Metaverse ของภูมิภาค ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า Metaverse อาจจะกลมกลืนในวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมด้านแฟชั่นและเฟอร์นิเจอร์ได้ใช้ AR และ VR เพื่อดึงดูดลูกค้าในการทดลองสินค้า เป็นการผสมผสานประสบการณ์การซื้อสินค้าจากหน้าร้านจริงและออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บไชต์หรือแอปพลิเคชันเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอยู่แล้ว ดังนั้น การพัฒนา Metaverse ใน e-commerce เพื่อทดแทนหรือแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก e-commerce แบบเดิมจึงยังต้องใช้ระยะเวลาอีกมากและไม่ใช่เรื่องง่าย โดยควรจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในยุคไซเบอร์ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น
.
ความท้าทายในการพัฒนา Metaverse
.
การนำระบบ Metaverse มาใช้ในภาคธุรกิจยังมีความท้าทายทั้งในด้านกฎระเบียบและด้านสังคม ได้แก่ 1) การละเมิดข้อมูลส่วนตัว ผู้ใช้จะเข้าสู่ระบบเป็นระยะเวลานานผ่านอุปกรณ์ VR พฤติกรรมผู้ใช้จะถูกติดตามและจดบันทึกอย่างต่อเนื่อง 2) การพัฒนากฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (data privacy) สำหรับ Metaverse โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและข้อพิพาท รวมถึงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค 3) การผูกขาดจากวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ใน Metaverse อย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการขนาดเล็ก และ 4) ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ช่องว่างระหว่างผู้คนที่สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จาก Metaverse กับผู้คนที่อาจประสบปัญหาในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนั้นมีสูง และ 5) ประเด็นเรื่องสัญชาติและชาติพันธุใน Metaverse ซึ่งอาจแตกต่างจากสัญชาติและชาติพันธุ์ในโลกแห่งความเป็นจริง อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางสัญชาติและชาติพันธุ์ใหม่ ๆ รวมถึงปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างอัตลักษณ์ (identity) ใน Metaverse กับโลกแห่งความเป็นจริง
.
นอกจากนี้ ในด้านการเงินการธนาคาร Metaverse จะสนับสนุนการใช้ Non-Fungible Token (NFT) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นเดียวกับสกุลเงินคริปโต โดย NFT ทำหน้าที่เป็นโฉนดที่ดินหรือใบแสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินใน Metaverse ซึ่ง NFT แต่ละฉบับจะไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ และมักจะอยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ที่มีความเฉพาะตัวสูง เช่น ผลงานศิลปะคริปโต (Crypto Art) รูปถ่าย ภาพ Meme เพลง วิดีโอ ของสะสม การ์ดเกม กีฬา และการ์ตูน รวมถึงผลิตภัณฑ์แฟชั่น ทั้งนี้ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ อาจไม่สนับสนุนการใช้ NFT เช่นเดียวกับการไม่สนับสนุนการชำระสินค้าด้วยเงินคริปโตในโลกของความเป็นจริง เนื่องจากจะลดเสถียรภาพของระบบการเงินการธนาคาร และควบคุมยากเนื่องจากจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อพัฒนากฎหมายที่ชับซ้อนขึ้นเพื่อจัดระเบียบ Metaverse ทั้งนี้ ในปัจจุบันเนื่องจาก Metaverse ยังอยู่ในช่วง early adopter จึงยังไม่มีความชัดเจนเรื่องสิทธิ์ในสินทรัพย์ Metaverse ตามกฎหมายรวมถึงการรับรองเอกสารการถือครองสินทรัพย์ Metaverse ซึ่งปัจจุบันมีเพียงสำเนาในรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น
.
การใช้เทคโนโลยี Metaverse ใช้ประโยชน์ในสาขาอื่น ๆ
.
การขยายโครงข่ายระบบ 5G ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทั่วทั้งสิงคโปร์เป็นหนึ่งในวาระการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่สำคัญของรัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งระบบ 5G จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี Metaverse ในสิงคโปร์ด้วย โดยสิงคโปร์เริ่มนำระบบเทคโนโลยี AR และ VR มาใช้ประโยชน์ในสาขาต่าง ๆ ดังนี้
.
- การแพทย์ทางไกล ได้แก่ (1) สิงคโปร์อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการส่งข้อมูลและอาการของผู้ป่วยแบบทันที (real-time transfer of data) จากรถพยาบาล ในระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ไปยังแพทย์ที่ห้องฉุกเฉิน ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤตหรือประสบอุบัติเหตุ (2) บริษัท Epic Games ยังได้พัฒนาเกม VR 3 มิติเพื่อให้ผู้เล่นฝึกการผ่าตัดในรูปแบบต่าง ๆ แบบเสมือนจริงด้วย และ (3) วิทยาลัย Nanyang Polytechnic ร่วมมือกับโรงพยาบาล National University Hospital (NUH) ในการพัฒนาแว่นตา hologram สำหรับนักศึกษาศัลยแพทย์ ซึ่งระหว่างผ่าตัดแว่นตาจะช่วยแสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการผ่าตัด และช่วยจำลองความเป็นไปได้ของการผ่าตัดในรูปแบบต่าง ๆ
.
- การจำลองการบินและการฝึกบิน กองการฝึก สำนักงานการบินพลเรือนสิงคโปร์ (CAAS) และโรงเรียนการบินสิงคโปร์ (Singapore Aviation Academy) ร่วมกับบริษัท Hiverlab พัฒนาโปรแกรมการฝึกบินโดยใช้ระบบ VR ขั้นสูง เพื่อให้นักบินได้ฝึกบินในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีระบบ 5G ซึ่งมีความเสมือนจริงอย่างยิ่ง
.
- ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ภาควิชาการของสิงคโปร์สนใจที่จะนำซอฟท์แวร์การศึกษาด้วยระบบ AR และ VR มาใช้ในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ เช่น Biotechnology Simulator ของบริษัท Carolina Biological Supply Company มาใช้ในการเรียนการสอนวิชาชีววิทยา โดยการนำระบบ 5G ลดต้นทุน เพิ่มความหลากหลาย
.
โดยสรุป Metaverse จะกลายเป็นพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ผู้คนสามารถเลือกซื้อสินค้า พบปะสังสรรค์ และใช้สื่อบันเทิงในรูปแบบที่แปลกใหม่ ๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามพัฒนาการของ Metaverse อย่างใกล้ชิด โดยผู้ประกอบธุรกิจด้านการค้าปลีกสามารถพิจารณานำเทคโนโลยี AR และ VR มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยอาจร่วมมือกับธุรกิจในสิงคโปร์ ซึ่งมีเทคโนโลยีด้าน AR และ VR ชั้นนำในภูมิภาค ในการสร้างสรรค์ประสบการณ์การบริโภครูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและช่องทางการพัฒนาธุรกิจที่สอดคล้องกับยุคสมัยแห่ง e-commerce 3.0 ในประเทศไทยต่อไปได้ในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://beautybusinessjournal.com/beauty-brand-metaverse/