แม้รัฐบาลอินโดนีเซียได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจใน Q4 ขยายตัวประมาณ 5.5 – 6% และปี 2565 ขยายตัวกว่า 5.2% เนื่องจากประชาชนมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็พบด้วยว่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีมูลค่าการนำเข้า 16.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 51.06% จากปี 2563 โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 14.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 48.29% จากปีเดียวกัน โดยประเทศ 4 อันดับแรกที่อินโดนีเซียนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุดในเดือนตุลาคม ปี 2564 ได้แก่ จีน (4.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ญี่ปุ่น (1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ออสเตรเลีย (0.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และไทย (0.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
.
ทั้งนี้พบว่าสินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องประดับมีการนำเข้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอภายในประเทศ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้เริ่มใช้มาตรการลดการนำเข้า (Safeguard duty) เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 134 รายการที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ชุดลำลองท่อนบน (upper casual dress) ชุดเป็นทางการท่อนบน (formal upper dress) กระโปรงและกางแกง (lower dress) ชุดสูท ชุดพร้อมเสื้อและกางเกง (ensemble) เสื้อคลุมยาว (gown) เสื้อผ้าชั้นนอก (outerwear) เสื้อผ้าเด็กและอุปกรณ์เสริม หมวก และผ้าพันคอ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องประดับภายในประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเก็บอากรชั่วคราวประมาณ 19,260 – 63,000 รูเปียห์ ต่อสินค้าในปีแรก และจะลดอัตราลงในปีถัด ๆ ไป อย่างไรก็ดี จะยกเว้นการเก็บอากรดังกล่าวเฉพาะสินค้าประเภท headwear และ neckwear ที่อยู่ในพิกัดภาษีที่กำหนดและนำเข้าจาก 122 ประเทศ (รวมถึงไทย)
.
มาตรการของอินโดนีเซียข้างต้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับภาคเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องประดับไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งอาจประสบกับอุปสรรคด้านต้นทุนจากปัจจัยค่าใช้จ่ายภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงฐานลูกค้าอินโดนีเซียที่อาจลดจำนวนลงจากส่วนต่างราคาสินค้าในตลาด สืบเนื่องจากการใช้มาตรการดังกล่าว
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา