เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลมณฑลหูหนานได้ประกาศแผนดําเนินงานในช่วงปี 2564 – 2566 จํานวน 2 ฉบับ ได้แก่ แผนดําเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเปิดสู่ภายนอกให้มีคุณภาพสูง และแผนดําเนินงานส่งเสริมการยกระดับคุณภาพและขยายการบริโภค เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายใน และส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
.
สําหรับแผนดําเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเปิดสู่ภายนอกให้มีคุณภาพสูง มีเป้าหมายว่า ภายในปี 2566 มณฑลหูหนานจะมีมูลค่าการนําเข้า-ส่งออกมากกว่า 700,000 ล้านหยวน หรือขยายตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 15 ต่อปี การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เกินกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศสะสม รวมสามปีมากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกําหนดภารกิจที่สําคัญ ได้แก่
.
(1) เร่งเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดระหว่างประเทศ ตามแนวประเทศสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) สําหรับอุตสาหกรรมที่มณฑลหูหนานมีความได้เปรียบ เช่น เครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้าง อุปกรณ์ระบบราง และการเกษตรสมัยใหม่
(2) ส่งเสริมการสร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าต่างประเทศ และเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านกําลังการผลิต
(3) กระชับความร่วมมือ “เส้นทางสายไหม e-commerce”
(4) ประสานการพัฒนาร่วมกับเขตเศรษฐกิจภายในประเทศแบบบูรณาการ ทั้งเขตเศรษฐกิจจิง-จิน-จี้ (Beijing-Tianjin-Hebei Integration) แถบเศรษฐกิจแม่น้ําแยงซี (Yangtze River Economic Belt) เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area) เขตวงกลมเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง และเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ กว่างซี
(5) ยกระดับคุณภาพของท่าเรือสําคัญ เช่น ท่าเรือ เฉิงหลิงจี และเขตการค้าเสรีนําร่องมณฑลหูหนาน
.
ในส่วนของแผนดําเนินงานส่งเสริมการยกระดับคุณภาพและขยายการบริโภค มีเป้าหมายว่า ภายในปี 2566 ยอดค้าปลีกของมณฑลหูหนานจะมีมูลค่าทะลุหลัก 2 ล้านล้านหยวน หรือเติบโตโดยเฉลี่ยกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยกําหนดภารกิจสําคัญ ได้แก่
.
(1) การปรับปรุงคุณภาพสินค้า โดยสนับสนุนให้บริษัทในมณฑลหูหนานยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพ ทั้งด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การออกแบบที่สร้างสรรค์ ความสามารถด้านการผลิตที่ใช้นวัตกรรมระดับกลางไปจนถึงระดับสูง และความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด รวมถึงปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของมณฑลหูหนานให้มีความโดดเด่นเพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของประเภทสินค้า การยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการยกระดับแบรนด์จากระดับมณฑลไปสู่แนวหน้าของประเทศ
(2) การส่งเสริมการขยายตลาด โดยสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งบริษัทที่ได้รับการยอมรับใน ตราสินค้า พื้นที่สินค้าเกษตร ผู้จัดหาสินค้า (supplier) และร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เพื่อจัดตั้งพื้นที่จําหน่ายสินค้าของมณฑลหูหนานโดยเฉพาะ
(3) การยกระดับแบรนด์ โดยการพัฒนาแบรนด์ท้องถิ่นที่มีความโดดเด่น เช่น ข้าว น้ํามันสําหรับการบริโภค สุรา เครื่องปั้นดินเผา และดอกไม้ไฟ รวมถึงสินค้าท้องถิ่นที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เช่น อาหารหูหนาน ซึ่งจัดเป็น 1 ใน 8 ตระกูลอาหารเลิศรสของจีน และผ้าปัก “เซียงซิ่ว” ซึ่งจัดเป็นหนึ่งใน 4 ศิลปะการปักผ้าที่ทรงคุณค่าของจีน ให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศมากขึ้น
(4) ส่งเสริมการบริโภคทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ให้ครอบคลุมตั้งแต่ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม จนถึงภาคบริการ เช่น การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ การดูแลผู้สูงอายุ การบริการทําความสะอาด การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่เป็น “จุดเช็คอิน” และแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีที่เป็น “จุดแลนด์มาร์ก” ตลอดจนการสร้างสิ่งอํานวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่ผนวกเข้ากับดิจิทัล หรือมีความเป็นอัจฉริยะ
.
ปัจจุบัน อาเซียนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดสำหรับมณฑลหูหนาน โดยไทยได้ติด 1 ใน 3 คู่ค้าหลักอีกด้วย ซึ่งกลุ่มสินค้าที่เป็นที่นิยมในมณฑลหูหนาน เช่น ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ แร่โลหะ นอกจากนี้ สินค้าประเภทเทคโนโลยีขั้นสูง สินค้าเกษตร และสินค้า e-commerce ต่างเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งถึงแม้ว่าจีนจะมีการปิดด่านและจำกัดเที่ยวบินอย่างเข้มงวดในช่วงการระบาดหนักของ COVID-19 แต่ขณะนี้ได้มีการเปิดช่องทางขนส่งเพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มรอบเที่ยวบินขนส่งสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้มณฑลหูหนานเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในจีน โดยควรเร่งพัฒนาช่องทางการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ เช่น ระบุข้อมูลสินค้าเป็นภาษาจีนบนเว็บไซต์ เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงติดตามกฎระเบียบส่งเสริมการค้า การลงทุน และภาษี หลัง RCEP มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง