สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และดูไบได้ลงทุนในประเทศ Sub-Sahara สูงที่สุดในบรรดาประเทศ Gulf Cooperation Council (GCC) คิดเป็นร้อยละ 88 ช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2559 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลงทุน 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากการสํารวจผู้บริหารร้อยละ 90 มีความเห็นว่าการลงทุนใน fintech จะเติบโตสูงที่สุดในปี 2565
.
ด้าน The Economist Intelligent Unit (EIU) ร่วมกับหอการค้าดูไบ ได้รายงานการประชุม Global Business Forum Africa ที่ดูไบครั้งที่ 6 ในช่วงการจัด Expo 2020 Dubai เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา เผยว่า เอกสารสมุดปกขาวซึ่งสํารวจผู้นําภาคธุรกิจกว่า 200 คนใน Sub-Sahara เกี่ยวกับแนวโน้มในการทําธุรกิจในแอฟริกา ระหว่างช่วงการระบาดของ COVID-19 รวมถึงแนวโน้มหลังการระบาดฯ ในด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง GCC กับแอฟริกาในอนาคต พบว่า อุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูง ได้แก่ fintech สาธารณสุข การเกษตร และ e-commerce ตามลำดับ สังเกตจากรายได้จากการขยายตัวที่สูงในปี 2565
.
นาย Hamad Buamin ประธานและผู้บริหารหอการค้าดูไบ กล่าวว่า ยังมีธุรกิจอีกหลายด้านในแอฟริกา ที่ยังไม่ได้มีการลงทุนอย่างทั่วถึงและมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และดูไบในการไปต่อยอดลงทุน ขยายการค้าทวิภาคี และร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ยังพบอุปสรรคบางประการอยู่บ้าง เช่น กฎระเบียบต่าง ๆ และระบบราชการที่ยังไม่เอื้ออํานวย ภาวะการขาดแคลนสิ่งอํานวยความสะดวกต่าง ๆ ถนนยังไม่เพียงพอทําให้ไม่สามารถต่อสายเชื่อมต่อระหว่างโรงงานผู้ผลิตซัพพลายเออร์กับศูนย์การค้าปลีกต่าง ๆ และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลก็ยังคงอ่อนแอ ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สามารถช่วยประเทศแอฟริกาด้านความเชี่ยวชาญทางการลงทุน และทรัพยากร ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางตลาดของแอฟริกาและสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนและการพัฒนาในทวีปแอฟริกานี้
.
ทั้งนี้ นาย Hamad เผยว่าแอฟริกาเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของดูไบและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีบทบาทสําคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และดูไบยังเป็นจุดหมายปลางทางของบริษัทจากแอฟริกาที่ต้องการเปิดตัวหรือแสวงหาคู่ค้าและหุ้นส่วนในการลงทุนจากภายนอกทวีปไปสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ จากรายงานการศึกษาตลาดแอฟริกา พบว่า ยังคงต้องการการลงทุนพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งการออกระเบียบ และกฎเกณฑ์ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตในภาคธุรกิจหลัก รวมไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการนำความเจริญมาสู่ทวีปแอฟริกา
.
ด้านผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตอุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อาจพิจารณาโอกาสนี้ในการเร่งผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ เพื่อพร้อมต่อการส่งออกไปยังทวีปแอฟริกา ยิ่งไปกว่านั้น ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสขยายตัวสูงระหว่าง GCC กับแอฟริกา อาจส่งผลดีต่อไทยเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่แอฟริกายังคงพึ่งพาการนำเข้าจากไทยในปริมาณสูง ผลจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก ดังนั้น เกษตรกรไทยควรรักษามาตรฐานสินค้าให้ได้คุณภาพ เพื่อคงสถานะการส่งออกระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกาต่อไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ