หลังจากญี่ปุ่นร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจคนเข้าเมือง ปัจจุบันได้อนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่ไม่ใช่แรงงานฝีมือ (แรงงานทักษะเฉพาะ) เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ จากเดิมที่อนุญาตเฉพาะผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น ซึ่งกฎหมายดังกล่าว มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 โดยแรงงานทักษะเฉพาะมีสถานภาพการพำนัก 2 ประเภท ดังนี้
.
(1) ประเภท “หมายเลข 1” สามารถทำงานและพำนักในญี่ปุ่นได้ไม่เกิน 5 ปีแบบต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถนำครอบครัวมาพำนักอาศัยด้วยได้ ปัจจุบันเปิดรับ 14 สาขาอาชีพ ได้แก่ งานบริบาล งานทำความสะอาดอาคาร งานผลิตชิ้นส่วนโลหะอุตสาหกรรม งานผลิตเครื่องจักร งานเกี่ยวกับไฟฟ้า งานก่อสร้าง งานต่อเรือเดินสมุทรและงานเกี่ยวเนื่องเรือเดินสมุทร งานบำรุงรักษารถยนต์ งานภาคพื้นสนามบิน งานด้านที่พัก งานการเกษตร งานประมง งานผลิตวัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงงานร้านอาหาร
.
(2) ประเภท “หมายเลข 2” ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะในระดับสูงกว่าสถานภาพการพำนักประเภทหมายเลข 1 โดยสามารถทำงานและพำนักในญี่ปุ่นได้ต่อเนื่องแบบไม่มีกำหนด และสามารถนำครอบครัวมาพำนักอาศัยด้วยได้ ปัจจุบันเปิดรับเพียง 2 สาขาอาชีพ ได้แก่ งานก่อสร้างและงานต่อเรือและงานเกี่ยวเนื่องเรือเดินสมุทร
.
ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มสาขาอาชีพของแรงงานต่างชาติประเภททักษะเฉพาะ (สถานภาพการพำนักประเภท “หมายเลข 2”) จากปัจจุบัน 2 สาขาอาชีพ เป็น 13 สาขาอาชีพตามอาชีพประเภท “หมายเลข 1” โดยจะไม่มีสาขางานบริบาลเนื่องจากแรงงานต่างชาติที่ได้รับใบรับรอง ผู้บริบาลของญี่ปุ่นสามารถยื่นขอต่อสถานภาพการพำนักได้เลย นอกจากนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นจะพิจารณาเรื่องการปรับเพิ่มฐานอัตราค่าจ้างของแรงงานทักษะเฉพาะหรืออาจปรับเพิ่มเงินโบนัส ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อภาษีที่แรงงานต่างชาติต้องรับผิดชอบด้วย (ปัจจุบันพนักงานใหม่ในสถานประกอบการขนาดใหญ่จะถูกหักภาษีประมาณร้อยละ 15 ของรายได้ต่อเดือน)
.
จากสถิติของ กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น เดือน ตุลาคม 2563 มีจำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นประมาณ 1.72 ล้านคน จากจำนวนประชากรญี่ปุ่น 125.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 1.4 ของประชากรทั้งหมด และร้อยละ 2.5 ของประชากรวัยแรงงาน ในจำนวนนี้ คิดเป็น
(1) ผู้ที่ถูกกำหนดสถานภาพการพำนักด้วยระยะเวลา ซึ่งประกอบด้วย ผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิคที่มีสถานภาพการพำนักสูงสุด 5 ปี (จำนวนประมาณ 400,000 คน) และนักเรียนต่างชาติ (จำนวนประมาณ 300,000 คน)
(2) ผู้ที่ไม่ถูกกำหนดสถานภาพการพำนักด้วยระยะเวลา ได้แก่ ผู้ที่ศึกษาจบระดับมหาวิทยาลัยแล้วต่อสถานภาพการพำนักเป็นวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และกิจการต่างประเทศ (จำนวนประมาณ 280,000 คน) และอื่น ๆ อนึ่ง จากข้อมูลของ สำนักงานแรงงานฯ ประจำปี 2563 แรงงานไทยในญี่ปุ่นที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย มีจำนวน 16,523 คน จำแนกเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค ร้อยละ 65 แรงงานที่มีทักษะฝีมือ ร้อยละ 32 และ แรงงานทักษะเฉพาะ ร้อยละ 3
.
ด้านผลกระทบจาก COVID-19 เดิมญี่ปุ่นได้ประมาณการว่าภายในปี 2566 จะรับแรงงานต่างชาติที่เป็น แรงงานทักษะเฉพาะจำนวน 345,150 คน แต่เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ญี่ปุ่น ต้องชะลอการอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น จากสถิติกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น เดือนสิงหาคม 2564 พบว่า มีแรงงานต่างชาติที่เป็นแรงงานทักษะเฉพาะเพียง 35,000 คนเท่านั้น
.
ด้านแรงงานในประเทศไทยที่มีฝีมือด้านการผลิตชิ้นส่วนโลหะอุตสาหกรรม งานผลิตเครื่องจักร งานเกี่ยวกับไฟฟ้า งานก่อสร้าง งานการเกษตร งานประมง รวมไปถึงงานร้านอาหาร อาจพิจารณาโอกาสนี้ในการพัฒนาศักยภาพตนเองให้พร้อมต่อความต้องการด้านแรงงานทักษะเฉพาะในญี่ปุ่น นอกจากนั้น ควรติดตามข่าวสารรวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานชาวไทยในต่างประเทศ
.
สถานเอกอัคราชชทูต ณ กรุงโตเกียว