เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 11 ประเทศในสหภาพยุโรป ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียมเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สเปน และสวีเดน ได้ส่งเอกสารแสดงจุดยืนร่วมกัน (joint paper) ถึงคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและมุ่งมั่นที่จะบรรลุผลสำเร็จในการเก็บรวบรวม การนำกลับมาใช้ใหม่ และการรีไซเคิลของสิ่งทอ (textile collection, reuse, and recycling) พร้อมกับเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปสำรวจว่ามีวัสดุใดบ้างที่สามารถใช้วัตถุดิบรีไซเคิลจากสิ่งทอได้ (textile-to-textile recycled content requirements) ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลสิ่งทอได้ โดยปัจจุบันสิ่งทอทั่วโลกมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นสิ่งทอ และยิ่งไปกว่านั้น การรีไซเคิลสิ่งทอส่วนใหญ่เป็นการรีไซเคิลที่ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและฟังก์ชันการใช้งานที่ต่ำกว่าการใช้วัตถุดิบดั้งเดิม (downcycling)
.
การแสดงจุดยืนร่วมเป็นไปเพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นของยุทธศาสตร์สิ่งทอที่ควรมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จและครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด รวมถึงบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมและนวัตกรรมด้านสิ่งทอ ส่งเสริมตลาดสิ่งทอของสหภาพยุโรปให้มีความยั่งยืนและการหมุนเวียน พร้อมจัดการกับแฟชั่นซื้อง่าย หน่ายเร็ว (Fast fashion)
.
จากสถิติของคณะกรรมาธิการยุโรป พบว่า ในแต่ละปีโดยเฉลี่ยชาวยุโรปใช้สิ่งทอต่อคนราว 26 กิโลกรัม แต่จากกระแส “แฟชั่นซื้อง่าย หน่ายเร็ว (Fast fashion)” ยิ่งทำให้สิ่งทอเหล่านั้นถูกใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ และทำให้มีสิ่งทอที่ถูกทิ้งไปประมาณ 11 กิโลกรัมต่อคนในแต่ละปี ซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ถือเป็นเรื่องที่ได้รับการจัดความสำคัญที่ต้องจัดการในลำดับต้น ๆ
.
ภายใต้แผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนของสหภาพยุโรป เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่ใช้ทรัพยากรด้านวัตถุดิบหลักและน้ำมากเป็นอันดับ 4 และปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 5 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด
.
นอกจากนี้ ยังมีการเสนออีกว่า ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีในการส่งเสริมการใช้เสื้อผ้าให้นานขึ้น และพิจารณามาตรการป้องกันการทำลายเสื้อผ้าที่ขายไม่ออกร่วมด้วย รวมไปถึงการป้องกันการฟอกเขียว (Greenwashing) ที่บริษัทผู้ผลิตทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด โดยการโฆษณาสินค้าหรือการให้บริการว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีความยั่งยืน ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ผ่านการดำเนินการกำหนดฉลากแบบบังคับเพื่อให้ให้ผู้บริโภคเห็นว่าพวกเขากำลังซื้ออะไรและสิ่งทอนั้นมีกระบวนการผลิตอย่างไร
.
ปัจจุบัน เริ่มมีการพูดถึงปัญหาของ fast fashion มากขึ้นในวงกว้าง เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยมลพิษ และสร้างขยะทางสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล แฟชั่นหมุนเวียนจึงกลายเป็นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืนของผู้ผลิต และผู้บริโภค โดยในช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ ผู้บริโภคต่างมีรายได้ที่ลดลง จึงมักมองหาการจับจ่ายสินค้าที่ใช้ได้นาน และมีคุณภาพคงทน ซึ่งการที่ประเทศ EU เริ่มออกมาเรียกร้องให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาขยะสิ่งทออย่างจริงจัง จะส่งผลต่อวงการแฟชั่นทั่วโลกในอนาคตอย่างแน่นอน รวมถึงการนำเข้า ส่งออกเสื้อผ้าของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยด้านแฟชั่นควรปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเสื้อผ้า โดยอาจนำวัตถุดิบธรรมชาติที่มีในพื้นที่ท้องถิ่นของตนมาสร้างเสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์ นำวัตถุดิบรีไซเคิล เช่น พลาสติกมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้า หรือผสามผสานความเป็นไทยร่วมกับความทันสมัยที่ยั่งยืนเพื่อสร้างภาพลักษณ์และการจดจำแก่ลูกค้าชาวต่างประเทศได้
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา