เกาหลีใต้ ตั้งเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรเจนในประเทศ โดยแบ่งภารกิจออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
.
(1) เป้าหมายระยะที่ 1 ภายในปี 2030
- จัดตั้งและพัฒนาบริษัทเกาหลีใต้ด้านไฮโดรเจน จำนวนกว่า 30 ราย ให้เป็นบริษัทชั้นนําของโลก โดยรัฐบาลจะมอบสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนตามแผนการดังกล่าว เช่น การลดอัตราภาษี และการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งรวมถึงหลักประกันการชําระหนี้ นอกจากนั้น ยังตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์ศึกษาด้านไฮโดรเจนใน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนได้ถึง 50,000 ตําแหน่ง
- เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานไฮโดรเจนทั้งหมดในประเทศ จำนวน 3.9 ล้านตัน (จากเดิม 220,000 ตัน ในปี 2021)
- ใช้พลังงาน green hydrogen ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานไฮโดรเจนทั้งหมดในประเทศ
(2) เป้าหมายระยะที่ 2 ภายในปี 2040
- เพิ่มการผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนให้ถึง 6.2 ล้านคัน แบ่งเป็น 2.9 ล้านคัน เพื่อใช้ภายในเกาหลีใต้ และ 3.3 ล้านคันเพื่อส่งออก (จากที่มีการใช้รถยนต์ไฮโดรเจนเพียง 2,000 คันในเกาหลีใต้ ในปี 2018)
- เพิ่มปริมาณสถานีชาร์จไฮโดรเจนเป็น 1,200 สถานี (จาก 112 สถานี ในปี 2021)
- ผลิตและใช้พลังงานจาก fuel cells ภายในประเทศให้ถึงระดับ 15 กิกะวัตต์
(3) เป้าหมายระยะที่ 3 ภายในปี 2050
- เพิ่มปริมาณการใช้พลังงานไฮโดรเจนทั้งหมดในประเทศ ให้ถึง 27 ล้านตัน (ประมาณ 10 เท่าของปี 2030)
- ใช้พลังงาน green hydrogen สมบูรณ์แบบ 100% ในเกาหลีใต้
- เพิ่มปริมาณสถานีชาร์จไฮโดรเจนเป็น 2,000 สถานี (จากเป้าหมาย 1,200 สถานี ภายในปี 2040)
.
พัฒนาการล่าสุด
.
กระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานเกาหลีใต้ (Ministry of Trade, Industry and Energy: MOTIE) ระบุว่า เดือนสิงหาคม 2564 เกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ไฮโดรเจนอันดับ 1 ของโลก (16,381 คัน) ตามด้วยสหรัฐฯ (11,024 คัน) และญี่ปุ่น (6,342 คัน) นอกจากนี้ เกาหลีใต้ได้จัดตั้งสถานีชาร์จ ไฮโดรเจนสําหรับรถยนต์ไฮโดรเจนแล้ว 112 สถานี เป็นรองเพียงญี่ปุ่นที่มี 152 สถานี โดยเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่พัฒนาและจัดตั้งสถานีชาร์จไฮโดรเจนได้รวดเร็วที่สุด จากเดิมปี 2018 ที่มีสถานีชาร์จฯ เพียง 14 สถานี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 700)
.
ด้านตลาดไฮโดรเจนในเกาหลีใต้กําลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงที่เกาหลีใต้ประกาศ Hydrogen Economy Roadmap เมื่อต้นปี 2018 ปัจจุบันตลาดไฮโดรเจนมีการค้าขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 และการลงทุนจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 โดยเริ่มมีการขยายตลาดสู่การใช้พลังงานไฮโดรเจนในยานยนต์หลากหลายชนิด ได้แก่ รถบรรทุก รถขยะ และรถยก ตลอดจนขยายไปสู่รถไฟ รถราง และเครื่องบินในอนาคตด้วย
.
นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังได้จัดการประชุม ‘H2 Business Summit’ ครั้งแรก ซึ่งเป็นกรอบการประชุมที่รวมบริษัทขนาดใหญ่ชั้นนําของเกาหลีใต้ ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับไฮโดรเจนรวมทั้งสิ้น 15 บริษัท เช่น Hyundai Motor Group Hyundai Heavy Industries SK POSCO Lotte Hanwha GS Doosan Hyosung และ Kolon Group เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนและระบบนิเวศด้านไฮโดรเจนของเกาหลีใต้อย่างยั่งยืน โดยกลุ่มบริษัทข้างต้น เห็นชอบลงทุนร่วมกันเป็นมูลค่า 43.4 ล้านล้านวอน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไฮโดรเจน และจะมีการประชุมร่วมกันในเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น และแบ่งปันสถานะล่าสุดเกี่ยวกับการดําเนินการของแต่ละบริษัท
.
เทรนด์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือการใช้พลังงานทดแทนกำลังเป็นที่นิยม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีนโยบายที่มุ่งบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2065 ดังนั้น ถือเป็นโอกาสของธุรกิจไทยในการสนับสนุน ร่วมลงทุน พัฒนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีใต้ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อให้เท่าทันกระแสโลก และเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล