คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับรองรายงานสถานะของพลังงานในสหภาพยุโรปประจำปี 2564 (State of the Energy Union Reports for 2021) ซึ่งเป็นรายงานติดตามความคืบหน้าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของสหภาพยุโรป หลังจากที่ออกแผน European Green Deal มาได้เกือบ 2 ปี ถึงแม้ว่าแนวโน้มต่าง ๆ จะดีขึ้น แต่ยังจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นอีกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนลงอย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2573 และความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และในปีหน้านี้ จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับแผนการฟื้นฟูระยะยาวหลัง COVID-19 โดยรายงานดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์นโยบายด้านพลังงานและสภาพอากาศทั้ง 5 เสาหลักของสหภาพพลังงาน (Energy Union) ประกอบด้วย (1) เร่งการกำจัดคาร์บอนผ่านตลาดซื้อขายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (EU Emission Trading System – ETS) และพลังงานหมุนเวียน (2) เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน (energy efficiency) (3) เพิ่มความมั่นคงและความปลอดภัยด้านพลังงาน (energy security and safety) (4) การเสริมความแข็งแกร่งตลาดภายใน (5) การวิจัย นวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงการบ่งชี้ขอบเขตการจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการตามข้อ European Green Deal
.
รายงานนี้ แสดงให้เห็นว่าในปี 2563 เป็นครั้งแรกที่พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) กลายเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าลำดับแรกในสหภาพยุโรปแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน คิดเป็นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ร้อยละ 37 ในปัจจุบัน ประเทศของสหภาพยุโรปจำนวน 9 ประเทศ ได้เลิกใช้ถ่านหินแล้ว และอีก 13 ประเทศให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้ถ่านหิน และอีก 4 ประเทศกำลังพิจารณากำหนดเส้นเวลาที่เป็นไปได้
.
สำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ EU27 เมื่อเทียบกันระหว่างปี 2562 กับปี 2563 พบว่า มีการลดลงเกือบร้อยละ 10 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยคาดว่ามาจากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 และเมื่อเทียบกับปี 2533 ก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ลดลงรวมถึงร้อยละ 31 ในขณะที่การใช้พลังงานขั้นต้น (Primary energy consumption) ลดลงร้อยละ 1.9 และการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย (final energy consumption) ลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้วก็ตาม ตัวเลขทั้งสองยังอยู่เหนือเส้นที่ควรจะเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรปในปี 2563 และ 2573 และความพยายามในการแก้ปัญหาจำเป็นต้องแก้ไขทั้งในระดับประเทศสมาชิกและระดับสหภาพยุโรป โดยในปี 2563 มีการให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการใช้พลังงานโดยรวมลดลง ในขณะที่เงินอุดหนุนในส่วนของพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในปี 2563
.
การที่พลังงานหมุนเวียนในสหภาพยุโรปเริ่มกลายมาเป็นแหล่งพลังงานหลักของภูมิภาค แสดงให้เห็นถึงความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น โดยพยายามที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานต่างประเทศ และหันมาผลิตพลังงานใช้ภายในได้อย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้ มีองค์กรและผู้คนจำนวนไม่น้อยในไทยที่เริ่มหันมาให้ความสนใจในด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และได้มีการลงทุนที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการติดตั้งในอัตราถึงร้อยละ 60 ของอาเซียน ซึ่งไม่เพียงแต่ในตัวเมือง แต่ยังมีการกระจายสู่พื้นที่ชนบทมากขึ้น เช่น โครงการติดตั้ง Solar Rooftop ให้กับโรงพยาบาลรัฐ นอกจากนี้ กระบี่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการเป็นเมืองต้นแบบของพลังงานหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์ถึง 100% ทุกๆ ชั่วโมงภายในปี 2569 ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการในดึงดูดนักลงทุนและวิจัยจากสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และเยอรมนี ที่สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมได้มากที่สุด เพื่อร่วมพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบี่ และจังหวัดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปยังควรติดตามกฎหมายภาษีด้านพลังงาน (ETD) และการจัดตั้งระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (ETS) ที่เข้มงวดขึ้น และควรศึกษาการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการค้า ควบคู่การรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา