การค้าระหว่างไทย – กัมพูชา ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2564
.
– มูลค่าการค้าทวิภาคี รวม 5,970.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.12
– การส่งออกของไทยไปยังกัมพูชา มีมูลค่า 5,283.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปีที่แล้ว ร้อยละ 14.47 โดยสินค้าที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ น้ํามันสําเร็จรูป รองลงมาเป็น เครื่องดื่ม รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และน้ําตาลทราย ตามลําดับ
– การนําเข้าของไทยจากกัมพูชา มีมูลค่า 687.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 28.30 โดยสินค้าที่นําเข้าสูงสุด ได้แก่ ผัก ผลไม้ รองลงมาเป็น สินแร่โลหะ ลวดและสายเคเบิล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสําเร็จรูป ตามลําดับ
.
ภาวะการลงทุนในกัมพูชาช่วงครึ่งแรกของปี 2564
.
– ภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา (Cambodian Investment Board – CIB) อนุมัติโครงการลงทุน รวมทั้งสิ้น 52 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 301.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีโครงการที่รับการอนุมัติน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จํานวน 48 โครงการ เงินลงทุนลดลง 125.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 29.41 การลงทุนสะสมตั้งแต่ปี 2537 – 2564 (เฉพาะช่วงครึ่งปีแรก) มีจํานวนโครงการลงทุน 4,026 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 15,930.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ได้แก่ จีน รองลงมาเป็น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และไทยอยู่ในอันดับที่ 9
.
– ประเภทโครงการที่ลงทุนมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต เครื่องนุ่งห่ม จํานวน 16 โครงการ (จีน 13 โครงการ และไต้หวัน 3 โครงการ) คิดเป็นร้อยละ 30.76 ของการลงทุนทั้งหมด รองลงมาเป็น โรงงานผลิตกระเป๋า รองเท้า สารเคมีทางการแพทย์ และโรงแรม
.
– ประเทศที่เป็นผู้ลงทุนหลัก ได้แก่
(1) จีน ได้รับอนุมัติลงทุน 33 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 63.46 มูลค่าเงินทุนจดทะเบียน 252.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่ม กระเป๋า รองเท้า และอาหาร และโครงการใหญ่ที่สุด ได้แก่ โรงแรม 5 ดาว มีมูลค่าการลงทุน 188.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(2) ไต้หวัน ได้รับอนุมัติลงทุน 9 โครงการ มูลค่าเงินทุนลงทะเบียน 18.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(3) กัมพูชา ได้รับอนุมัติลงทุน 9 โครงการ มูลค่าเงินทุนลงทะเบียน 18.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจ โรงพยาบาล โรงแรม โรงงานผลิตยารักษาโรค โรงงานกระดาษ และพลังงานแสงอาทิตย์
(4) ฮ่องกง ได้รับอนุมัติลงทุน 4 โครงการ มูลค่าเงินทุนลงทะเบียน 9.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(5) ไทย ได้รับอนุมัติ 1 โครงการ ได้แก่ ธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ขนาด 60 MW ของ บริษัท Prime Road Alternative (Cambodia) Co., Ltd.
.
ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างไทย – กัมพูชา เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน หลังจากที่ตัวเลขการค้าติดลบมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า การค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศเริ่มกลับมาคึกคัก ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ทั้งนี้ คาดการณ์ได้ว่า ปริมาณการค้าทวิภาคีของทั้ง 2 ประเทศจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากทั้ง 2 ประเทศประกาศเปิดจุดผ่านแดนทางบกอย่างเสรีอีกครั้งหนึ่ง
.
การลงทุนของต่างชาติในกัมพูชาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 จะพบว่า ยังเป็นการลงทุนในโรงงานผลิต เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมากเป็นอันดับ 1 แม้ว่ากัมพูชาจะถูกสหภาพยุโรปเพิกถอนสิทธิประโยชน์ทางภาษีประเภทเครื่องนุ่งห่มไปบางส่วนแล้วก็ตาม โดยจีน ฮ่องกง และมาเก๊า ต่างเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชายังคงสามารถผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสําคัญทั่วโลกได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีหลาย อุตสาหกรรมในประเทศที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น สินค้าเกษตร อาหาร บรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจของไทยที่สนใจลงทุนในกัมพูชา เนื่องจากยังถือว่าเป็นตลาดยังมีอัตราการเติบโตสูงในหลายภาคธุรกิจ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ