เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ดร. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุนสปป. ลาว ได้รายงานผลการปฏิบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนงบประมาณแห่งรัฐแผนการเงินในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 และแผนงานสำคัญในปลายปี 2564 ต่อที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 2 ของสภาแห่งชาติชุดที่ 9 ว่า การระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสปป. ลาว โดยเฉพาะปัญหาด้านการคลัง การเงิน หนี้สาธารณะ ความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ โรคระบาดในพืช และสัตว์ตามฤดูกาล ซึ่งล้วนแต่เป็นความท้าทายและแรงกดดันต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปี 2564
.
จากข้อมูล 9 เดือนแรกของปี 2564 ประกอบกับปัจจัยแนวโน้มและศักยภาพของสปป. ลาว คาดว่า GDP ปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3 มูลค่า 180.24 ล้านล้านกีบ รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 2,649 ดอลลาร์สหรัฐ รายได้รวมประชาชาติ (GNI) เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 2,479 ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยการขยายตัวของภาคการเกษตรร้อยละ 2.5 คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 4.9 คิดเป็นร้อยละ 33.9 ภาคบริการร้อยละ 1.2 คิดเป็นร้อยละ 39.1 และรายได้สุลกากรและภาษี ร้อยละ 2.8 คิดเป็นร้อยละ 10.4 ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจลาวจะยังคงได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคการก่อสร้างร้อยละ 8.2 ภาคข่าวสารและการสื่อสารร้อยละ 6.3 ภาคเหมืองแร่ร้อยละ 1.4 การค้าปลีก ค้าส่ง และการซ่อมพาหนะร้อยละ 1.6 การบริการการเงินและประกันภัยร้อยละ 3 การรักษาสุขภาพร้อยละ 6.5 และภาคพลังงานไฟฟ้าร้อยละ 4.5 เนื่องจากโครงการพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกินกว่าแผนที่กำหนดไว้ เช่น เขื่อนไฟฟ้าน้ำเทิน 2 น้ำซัน 3A น้ำซัน 3B น้ำทา 1 และน้ำลีก 1 เป็นต้น
.
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้การขยายตัวของภาคบริการที่พักและร้านอาหารลดลงที่ติดลบร้อยละ 28.6 เนื่องจากร้านอาหารและโรงแรมหลายแห่งได้ยุติการให้บริการ การขนส่งและคลังสินค้าติดลบร้อยละ 0.7 เนื่องจากการระงับบริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างแขวงชั่วคราวในไตรมาส 2 และ 3 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้ขนส่งสินค้าได้ตามปกติแต่ยังขาดความคล่องตัว ทั้งนี้ คาดว่าการขนส่งผู้โดยสารจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 เนื่องจาก ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเส้นทางเดินรถไฟลาว – จีน และภาคอุตสาหกรรมตัดเย็บและเครื่องนุ่งห่มขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 เนื่องจากในไตรมาส 2 และ 3 โรงงานหลายแห่งต้องปิดกิจการชั่วคราวจากการระบาดของโรค COVID-19 ระลอกใหม่ การขยายตัวลดลงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม
.
ด้านการเงิน ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประเภท M2 ซึ่งได้แก่ เงินในมือประชาชน เงินฝากประจำ เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.75 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 3.32 สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ราคาน้ำมันดิบ วัตถุดิบ และต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของเงินกีบและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักส่งผลต่อปริมาณสินค้า
.
จึงอาจกล่าวได้ว่า ภายหลังนโยบายการเปิดประเทศของไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นมา ภาคเอกชนไทยพบสัญญาณในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและร้านอาหารที่พึ่งพารายได้จำนวนมากจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่เริ่มมีนโยบายการผ่อนคลายการเดินทางข้ามประเทศ และมาตรการการกักตัว ซึ่งปัจจัยนี้ได้ส่งผลให้อุปสงค์ในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในหลายพื้นที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดพรมแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการดำเนินธุรกิจ เช่น การขายผ่านช่องทาง e-Commerce และออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ประชาชนสปป.ลาว
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์
.
แหล่งที่มา: หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจการค้า