(1) เมืองเฉวียนโจวมุ่งเป็นเมืองแห่งเส้นทางสายไหมทางทะเล
นายหวัง หยงหลี่ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และนายกเทศมนตรีเมืองเฉวียนโจว แถลงวิสัยทัศน์การพัฒนา เมืองเฉวียนโจวเป็น ‘เมืองแห่งเส้นทางสายไหมทางทะเลที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพ’ ภายในปี 2578 โดยมุ่งส่งเสริมการสร้างศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจการค้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแผนงานสําคัญ เช่น การสร้างศูนย์กระจายสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชาติ ศูนย์กลาง e-commerce และเมืองนําร่องการชําระสกุลเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการขยายคลังสินค้าในต่างประเทศ นอกจากนั้น นายหวังฯ ยังได้ให้ความสําคัญด้านการดึงดูดนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลให้กลับมาลงทุนที่บ้านเกิด โดยเมืองเฉวียนโจวจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นสากล พัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกและบริการด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมระบบนิเวศที่เหมาะสม สําหรับการลงทุน ทั้งนี้ ในปี 2563 มูลค่า GDP ของเมืองเฉวียนโจวแตะ 1 ล้านล้านหยวนเป็นครั้งแรก และมูลค่าการค้ากับประเทศตามแนวเส้นทางสายไหมทางทะเลมากกว่า 1 แสนล้านหยวน
.
(2) พลังงานสะอาด
สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของมณฑลฝูเจี้ยน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27.5 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าของทั้งมณฑล โดยคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลฝูเจี้ยนเปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มณฑลฝูเจี้ยนมี ปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ รวม 6 หมื่นล้านกิโลวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ 27.5 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานต่าง ๆ ของทั้งมณฑล ขณะที่มณฑลฝูเจี้ยนเร่งดําเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลฝูเจี้ยนระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยเน้นการสร้างความแข็งแกร่งของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดชายฝั่ง สร้างระบบการจ่ายพลังงานแบบบูรณาการสําหรับพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ นิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียน ขยายการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ และเร่งดําเนินโครงการขยายพื้นที่โรงไฟฟ้าแหล่งเดิม เช่น การขยายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จางโจว และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฝูโจว โดยตั้งเป้าหมายกําลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง รวมกว่า 80 ล้านกิโลวัตต์ในมณฑลฝูเจี้ยนภายในปี 2568
.
(3) การค้ากับต่างประเทศ
การค้ากับต่างประเทศของมณฑลฝูเจี้ยนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 การค้ากับต่างประเทศของมณฑลฝูเจี้ยน ขยายตัวสูงขึ้น โดยมีมูลค่ากว่า 1.36 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็นการส่งออก 7.9 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 และการนําเข้า 5.68 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 โดยอาเซียนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยน โดยมีมูลค่าการค้ารวม 2.66 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 รองลงมา คือ สหรัฐฯ (เท่ากับ 1.69 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30) สหภาพยุโรป (เท่ากับ 1.49 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30) ทั้งนี้ เมืองเซี่ยเหมิน ฝูโจวและเฉวียนโจว มีมูลค่าการการค้ากับต่างประเทศอยู่ที่ 6.57 แสนล้านหยวน 2.4 แสนล้านหยวน และ 1.96 แสนล้านหยวน และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 29.9 และ 42.4 ตามลําดับ
.
สําหรับสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ แบตเตอรี่พลังงาน และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพิ่มขึ้นร้อยละ 243 และ 77 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้าเป็นสินค้าที่มณฑลฝูเจี้ยนนําเข้ามากที่สุด คิดเป็น 9.6 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 คิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 17 ของมูลค่าการนําเข้าสินค้าของทั้งมณฑลและมีการนําเข้าสินค้าเกษตรมูลค่า 7.68 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของมูลค่าการนําเข้าสินค้าของทั้งมณฑล
.
(4) นโยบายด้านโลจิสติกส์
สํานักงานรัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยนออก ‘มาตรการส่งเสริมนครฝูโจวให้เป็นเมืองนานาชาติที่ทันสมัย’ โดยมี มาตรการสําคัญ ได้แก่
– เร่งก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเวินโจว-ฝูโจว รถไฟความเร็วสูงฝูโจว-คุนหมิง และรถไฟความเร็วสูงฝูโจว-หลงเหยียน เพื่อสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับสากล
– เร่งก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกนานาชาติฝูโจว เพื่อส่งเสริมการเป็นฐานการขนส่งทางยุทธศาสตร์ระดับชาติสําหรับสินค้าเทกอง (Bulk Cargo)
– ก่อสร้างห้องปฏิบัติการระดับชาติ และสร้างศูนย์วิจัยด้านวิศวกรรมแห่งชาติสําหรับเครือข่ายอัจฉริยะ เพื่อสร้าง ‘เมือง iValley แห่งชาติ: เมืองแห่งวิทยาศาสตร์แห่งตะวันออกเฉียงใต้ในมณฑลฝูเจี้ยน และเมืองแห่งมหาวิทยาลัยชั้นนํา’
– ตั้งเป้าหมายการเพิ่มมูลค่า GDP ของฝูโจวให้ถึง 1.7 ล้านล้านหยวน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่าร้อยละ 7 มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน และส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรม 6 กลุ่มให้มีมูลค่าเกิน 1 แสนล้านหยวนเพื่อสร้างเมืองที่มีความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมภายในปี 2568
– ส่งเสริมการสร้างนครฝูโจวเป็นเมืองนําร่องการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม และเมืองนานาชาติที่ทันสมัย
.
จากข้อมูลข้างต้น พบว่า อาเซียนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยน โดยสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้าเป็นสินค้าที่มณฑลฝูเจี้ยนนําเข้ามากที่สุด ด้านภาคธุรกิจไทย ซึ่งมีศักยภาพด้านการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ควรรักษามาตรฐานการผลิตให้ได้คุณภาพ เพื่อพร้อมต่อสู้กับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ที่พร้อมส่งออกสินค้าในประเภทเดียวกัน นอกจากนี้ นโยบายการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงฝูโจว-คุนหมิง ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยในตลาดที่กว้างขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการที่กำลังวางแผนดำเนินธุรกิจหรือส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน ควรติดตามข่าวสารด้านโลจิสติกส์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยเหมิน