ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์
.
ดร. สีนาวา สุพานุวง รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป. ลาว กล่าวว่า สปป. ลาวมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10,000 – 15,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่พลังงานลมอาจสูงถึง 100,000 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เท่ากับครึ่งหนึ่งของศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป. ลาว ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 30,000 เมกะวัตต์ การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่หลากหลายจะช่วยให้ สปป. ลาวไม่ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากไทยในฤดูแล้ง
.
การพัฒนาแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) มีความสำคัญเนื่องจากการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะช่วยประหยัดพื้นที่และไม่จำเป็นต้องสร้างสายส่งไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับนักลงทุน ปัจจุบันรัฐบาล สปป. ลาวได้อนุญาตให้นักลงทุนก่อสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แล้วจำนวนหนึ่งและบางโครงการอยู่ระหว่างทำการศึกษา
.
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 รัฐบาล สปป. ลาวและ Electricité De France (EDF) ได้ลงนามสัญญาว่าด้วยการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานบนอ่างเก็บน้ำของเขื่อนไฟฟ้าน้ำเทิน 2 แขวงคำม่วน (Power Development Agreement : PDA) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 240 เมกะวัตต์ โดยผู้พัฒนาโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2565 และผลิตไฟฟ้าในปี 2567
.
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาล สปป. ลาว และบริษัท Hangzhou Safefound Technology จำกัด ของจีนได้ลงนาม PDA ว่าด้วยการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนอ่างเก็บน้ำของเขื่อนน้ำงึม 1 ในเขตพื้นที่บ้านโพนสะหวาด เมืองล่องซาน แขวงไซสมบูน มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,200 เมกะวัตต์
.
ด้านพลังงานลม
บริษัทในเครือของ มิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น ได้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ ในแขวงเซกองและอัดตะปือ ผ่านบริษัท Impact Energy Asia Development จำกัด (IEAD) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อขายไฟฟ้าให้กับเวียดนาม ซึ่งนับว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกของ สปป. ลาว และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และผลิตไฟฟ้าในปี 2568
.
การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของ สปป. ลาว และมีการขายไฟฟ้าจำนวนมากให้กับประเทศเพื่อนบ้าน จนถึงปัจจุบัน สปป. ลาวใช้ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไปประมาณหนึ่งในสาม หากการพัฒนาแหล่งพลังงานข้างต้นดำเนินไปอย่างราบรื่นและเหมาะสม อาจทำให้ สปป. ลาวบรรลุเป้าหมายในการเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย รวมทั้งช่วยลดปัญหาความยากจนและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
.
โอกาสผู้ประกอบการไทย
สปป.ลาว มีโครงการสัมปทานทําเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ จํานวนหลายโครงการ แต่เนื่องด้วยภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดเงินทุนและความพร้อมในการบริหารจัดการในการสร้าง จึงเป็นโอกาสอันดีหากภาคเอกชนไทยที่มีความพร้อมในด้านเงินทุน ความรู้ ความสามารถเเละความเชี่ยวชาญสนใจเข้ามาขอรับสัมปทานโครงการดังกล่าวเเละใช้โอกาสนี้ถ่ายทอดหรือเเลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่องพลังงาน เช่น เเผงโซลาร์เซลล์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์