การตกค้างและปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายในอาหารและสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก โดยเฉพาะสารเคมีที่ย่อยสลายยาก เช่น สารเคมีในกลุ่ม PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เช่น กระทะเคลือบเทฟล่อน บรรจุภัณฑ์อาหาร หีบห่อฟาสต์ฟู้ด รวมไปถึงเสื้อผ้ากันน้ำ Goretex สีทาบ้าน หรือโฟมที่ใช้ในการดับเพลิง เนื่องจากคุณสมบัติที่ช่วยป้องกันความชื้นและการดูดซึมของไขมันได้ดี
.
ที่ผ่านมา มีผลการวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจาก PFAS บ่งชี้ว่าสารเคมีในกลุ่ม PFAS อาจมีส่วนเชื่อมโยงกับหลายโรค เช่น มะเร็ง โรคตับ โรคหอบหืด ตลอดจนลดภาวะการเจริญพันธุ์ และสามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาของทารกในครรภ์ หากมีการบริโภคสารชนิดนี้ที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง
.
หนุนแบนสารเคมีในกลุ่ม PFAS หากไม่จำเป็น เร่งควบคุมคุณภาพบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทกระดาษ
.
เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพและป้องกันสารตกค้างเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ คือ (1) กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยสารเคมีของสหภาพยุโรป และ (2) กฎระเบียบว่าด้วยวัสดุสัมผัสอาหารของสหภาพยุโรปเพื่อปรับลดหรือยกเลิกการใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
.
1) เสนอให้มีการกำหนดมาตรการปรับลดหรือยกเลิกการใช้สาร PEAS ให้เหลือเพียงกลุ่ม “essential uses” เท่านั้น
.
โดยเริ่มจากการห้ามการใช้สาร PFAS กับโฟมกันไฟ (fire-fighting foams) ก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาเห็นชอบภายในต้นปี 2565 และหลังจากนั้นในช่วงกลางปี 2565 จะเริ่มกระบวนการพิจารณาห้ามการใช้สารนี้กับสินค้าอื่นทั้งหมด ยกเว้นสินค้าจำเป็น เช่น อุปกรณ์ด้านการแพทย์ เป็นต้น
.
2) เสนอให้มีการขยายขอบเขตการกำกับดูแลการใช้สารในกลุ่ม PFAS ในวัสดุสัมผัสอาหารต่างๆ ให้รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยกระดาษ กระดาษแข็ง และเยื่อไฟเบอร์ชนิดอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบรรจุภัณฑ์ยังสามารถใช้กระดาษรีไซเคิลสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารได้ แต่วัสดุนั้นจะต้องไม่มีส่วนประกอบของ PFAS ในปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (maximum levels) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีสิ่งปนเปื้อนในอาหาร
.
แนวคิดการจำกัดการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้มีการประกาศห้ามสารเคมีที่เป็น subgroups ของสารประเภทนี้ไปแล้วกว่า 200 รายการ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างข้อเสนอเกี่ยวกับการยกเลิกการใช้สาร PFAS ให้เหลือเพียงกลุ่ม “essential uses” ในครั้งนี้อาจกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนเป็นวงกว้าง ฝ่ายสนับสนุนให้มีการแบนสาร PFAS ในยุโรป เช่น เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก เป็นต้น จึงจัดทำแบบสอบถามเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย โดยจะเสนอเรื่องให้หน่วยงานจัดการสารเคมียุโรป (European Chemical Agency: ECHA) นำข้อคิดเห็นที่ได้ไปพิจารณาและใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมในทางปฏิบัติต่อไป
.
ผลการรับฟังความคิดเห็น
.
ร่างข้อเสนอข้างต้นนำมาสู่กระแสคัดค้านของผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่ม โดยภาคเอกชนยุโรปที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วยกับการห้ามใช้สารเคมีในกลุ่ม PFAS ทั้งหมด ซึ่งมีมากกว่า 4,700 ชนิด เพราะเห็นว่าอาจสร้างความเสียหายให้กับห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้าง เนื่องจากในปัจจุบันมีการนำสาร PFAS ไปใช้ประโยชน์เป็นวัตถุตั้งต้นทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติกเครื่องปรับอากาศ สิ่งทอ ยานยนต์ ปิโตรเคมี ไฟฟ้า รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลาหากต้องปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนชนิดอื่น นอกจากนั้น ยังกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นจนอาจถูกคู่แข่งตัดราคาได้
.
ด้านฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการห้ามการใช้สาร PFAS ในยุโรป เช่น กลุ่ม NGO ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องการให้คณะกรรมาธิการยุโรปออกมาตรการห้ามการใช้สารในกลุ่ม PFAS ทั้งหมดเพื่อป้องกันหรือลดการปนเปื้อนของอาหาร เสื้อผ้า และสิ่งแวดล้อม โดยพรรค Greens จากสภายุโรปพยายามผลักดันให้สหภาพยุโรปเร่งลดผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการใช้สารเคมีเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์สารเคมีใหม่ของสหภาพยุโรปที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสภาพแวดล้อมที่ปลอดสารพิษ (toxic-free environment) ภายในปี 2050
.
จึงอาจกล่าวได้ว่า มาตรการควบคุมการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS ในสหภาพยุโรป จำเป็นที่จะต้องประเมินผลดีและผลเสีย พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกันหรือเยียวยาไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนและผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่ในขณะเดียวกัน ทิศทางในการควบคุมการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS จะส่งผลในด้านบวกต่อสภาพปัจจัยในเชิงสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาตร์ของสหภาพยุโรปอย่าง European Green Deal เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG Economy Model) ของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าว อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้สารเคมีในกลุ่มข้างต้นในการผลิต และติดตามทิศทางของมาตรการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป
.
ที่มา: https://www.theparliamentmagazine.eu/news/article/why the-eu-and-us-shouldntfollowthegreen-groups-advice-on-pfas