ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง ชูนโยบายประจำปี 2564 ในหัวข้อ ‘Building a Bright Future Together’ ซึ่งสะท้อนถึงอนาคตที่สดใสของฮ่องกง ด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่
.
(1) ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการคืนสู่จีน ในปี 65 ฮ่องกงจะกลับคืนสู่หลักการ ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ จากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ โดยเน้นย้ำว่า ‘1 ประเทศ’ คือฐานรากของหลักการดังกล่าว พร้อมปรับปรุงระบบเลือกตั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้คนรักชาติเข้ามาบริหารฮ่องกงอย่างแท้จริง (patriots administering Hong Kong)
(2) ฮ่องกงพร้อมรับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในด้านการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 โดยเฉพาะในพื้นที่ Greater Bay Area (GBA) และยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (dual circulation)
(3) ฮ่องกงยังคงยึดมั่นในจุดแข็งที่มีมาแต่เดิม เช่น หลักนิติธรรม ความเป็นอิสระของตุลาการ รวมทั้งสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ เห็นได้จากการครองอันดับทางเศรษฐกิจ เป็นอันดับที่ 7 ของโลกใน Global Financial Centres Index ฉบับล่าสุด เมื่อกันยายน 2564 และอันดับ 2 ของโลกใน IMD World Digital Competitiveness 2021 รวมทั้งยังเป็นอันดับ 2 ของโลก ในด้านศูนย์กลางของการระดมทุน IPO และการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทด้าน biotech
.
ฮ่องกงยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เห็นได้จากการที่รัฐบาลฮ่องกงได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ (stock connect) ตลาดตราสารหนี้ (bond connect) และการเข้าถึงบริการทางการเงินและการบริหารจัดการความมั่งคั่ง (wealth connect) ข้ามพรมแดนเพื่อสนับสนุนการบูรณาการทางการเงินระหว่างฮ่องกงกับจีน ยิ่งไปกว่านั้น ฮ่องกงจะยกระดับศักยภาพด้าน IT สู่ระดับสากล โดยการพัฒนาผลงาน R&D เพื่อประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม และการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม (reindustrialisation) ซึ่งจะมุ่งเน้น 3 สาขาสําคัญ ได้แก่
- biotech
- health tech
- life sciences
โดยรัฐบาลฮ่องกงจะสนับสนุนที่ดิน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT อย่างคลัสเตอร์นวัตกรรม “InnoLife Healthtech Hub” ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นที่ Hong Kong – Shenzhen Innovation and Technology Park
.
ด้านการค้าฮ่องกง ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.4 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง โดยเฉพาะการค้าผ่าน air cargo ซึ่งมีจํานวนราว 4.5 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ รัฐบาลฮ่องกงยังวางแผนส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนของ SMEs ผ่านโครงการ Commercial Data Interchange (CDI) เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางการค้าอย่างครอบคลุม นอกเหนือจากนี้ ฮ่องกงจะเป็นศูนย์กลางด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตก โดยรัฐบาลฮ่องกงได้แสดงความประสงค์ให้สถานกงสุลใหญ่ประเทศต่าง ๆ นําการแสดงจากต่างประเทศเข้ามาจัดแสดงในฮ่องกงด้วย
.
อย่างไรก็ดี ประเด็นด้านที่ดินและที่พักอาศัย ถือเป็นความท้าทายหลักของฮ่องกง ที่ทําให้การพัฒนาประเด็นต่าง ๆ ยังไม่บรรลุผลสูงสุด โดยรัฐบาลฮ่องกงได้เร่งการพัฒนาตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ ‘Hong Kong 2030+’ และพัฒนาที่ดินราว 350 เฮกตาร์ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนราว 3.3 แสนยูนิตในช่วง 10 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากนี้ ฮ่องกงยังมองว่าแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศและจีนแผ่นดินใหญ่มีความจําเป็นยิ่งสําหรับการพัฒนาทางเทคโนโลยีของฮ่องกง ดังนั้นรัฐบาลฮ่องกง จึงได้เพิ่มโควตาผู้เข้าข่ายตามมาตรการ Quality Migrant Schemes จาก 2,000 คน เป็น 4,000 คน เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงมายังฮ่องกงให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนสําหรับแรงงานทักษะสูงในพื้นที่ GBA และเพื่อตอบรับเทรนด์โลกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ฮ่องกงวางแผนมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050 และจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนร้อยละ 50 ภายในปี 2035 โดยฮ่องกงจะประกาศแผนปฏิบัติการ ‘Hong Kong’s Climate Action Plan 2050’ ในเร็ว ๆ นี้ และจะจัดตั้ง Office of Climate Change and Carbon Neutrality เพื่อประสานงานการบรรลุเป้าหมายข้างต้น นอกจากนี้ ฮ่องกงจะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคการขนส่ง และสร้างโรงงานเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน (Waste-To-Energy – WTE) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย
.
จากข้อมูลข้างต้น ผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมในสาขา biotech health tech และ life sciences ควรพิจารณาการลงทุนในฮ่องกง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของที่ดิน หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นการลดอุปสรรคในด้านการลงทุนได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ นโยบายการสนับสนุนแรงงานต่างชาติในฮ่องกง นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของแรงงานไทย ในการเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ใหญ่ขึ้น
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง