เยอรมนี ถือเป็นผู้นำทางด้านพลังงานไฮโดรเจน โดยมีแผนยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติเมื่อปี ค.ศ. 2020 ซึ่งไฮโดรเจนถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนําเยอรมนีบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2045 ซึ่งสอดคล้องกับไทยที่มีนโยบายส่งเสริมพลังงานทางเลือกภายใต้แผนพลังงานแห่งชาติ และ Bio-Circular-Green Model (BCG) โดยประเทศไทยมีโครงการเกี่ยวกับไฮโดรเจน 2 โครงการ ได้แก่ (1) การผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เขื่อนลำตะคอง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ (2) โครงการบ้านผีเสื้อ จังหวัดเชียงใหม่ โดยบริษัท Enapter GmbH ของเยอรมนีที่ได้สร้างแหล่งเรียนรู้ อาคารที่อยู่อาศัย ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจนในปี 2564 นี้ บ้านผีเสื้อเป็น 1 ใน 32 โครงการทั่วโลกที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมาธิการยุโรปให้เป็นโครงการนำร่องไฮโดรเจน โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเป็นครั้งแรกในเรื่องไฮโดรเจนระหว่างทั้งสองประเทศในครั้งนี้จะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และนําไปสู่ความร่วมมือด้านพลังงานต่อไป
.
ผู้อำนวยการกระทรวงพลังงานของไทยกล่าวถึง แผนพลังงานแห่งชาติของไทย มุ่งเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนถึง 34.23 % ภายใน ค.ศ. 2037 และตั้งเป้าหมายสู่การเป็นสังคม Net Zero Emission ในช่วงปี ค.ศ. 2065 – 2070 โดยพลังงานไฮโดรเจนและ Fuel Cell จะตอบโจทย์แผนการพัฒนาด้านพลังงานของไทย ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยศึกษาศักยภาพของไฮโดรเจนในประเทศไทย โดยมี 4 บริษัทในไทยที่ผลิตและใช้ไฮโดรเจนในอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) Bangkok Industrial Gas Co., Ltd. (BIG) (2) Air Liquide Thailand Co., Ltd. (3) Linde (Thailand) PLC. และ (4) Air Product Industrial Co., Ltd. โดยกระทรวงพลังงานเห็นว่า ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนได้ใน 3 สาขา ได้แก่ (1) ภาคไฟฟ้า (2) ภาคอุตสาหกรรม และ (3) ภาคการขนส่ง อย่างไรก็ตามการศึกษาพบว่าการใช้พลังงานไฮโดรเจนในไทยยังมีราคาสูงในทั้ง 3 สาขา โดยไทยยังจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมการพัฒนาและวิจัยพลังงานไฮโดรเจน อีกทั้งพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับพลังงานไฮโดรเจนต่อไป
.
ด้านกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอภิปรายถึง ช่วงปีที่ผ่านมาเยอรมนีมุ่งพัฒนาและวิจัยการแปลงพลังงานทดแทนให้อยู่ในรูปที่สามารถขนส่งและซื้อขายได้ในระดับที่ใหญ่ขึ้น ถือเป็นตัวการสำคัญสำหรับการมุ่งสู่การเป็นสังคม Net Zero Emission โดยมีปัจจัย 3 ประการที่สำคัญ ได้แก่ (1) ความมุ่งมั่นและการผลักดันจากรัฐบาล (2) การพัฒนาเทคโนโลยี และ (3) การสนับสนุนจากภาคเอกชน และการที่รัฐบาลเยอรมนีให้ความสำคัญในเรื่องนี้และได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ไฮโดรเจน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างตลาดสำหรับพลังงานไฮโดรเจน โดยมุ่งเน้นไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตจากพลังงานทดแทน และส่งเสริมการวิจัยเพื่อการกักเก็บและขนส่งไฮโดรเจน พร้อมพัฒนาความร่วมมือทางตลาดกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เยอรมนีมีข้อจํากัดด้านการผลิตพลังงานสีเขียวเนื่องจากเยอรมนีไม่ใช่ประเทศขนาดใหญ่มากพอที่จะผลิตไฮโดรเจนสีเขียวให้เพียงพอกับความต้องการใช้พลังงานชนิดนี้แทนพลังงานแบบดั้งเดิม
.
ปัจจุบันเยอรมนีมีทุนสนับสนุนด้านไฮโดรเจนกว่า 9 ล้านยูโรจากแผนฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติ COVID-19 (German Recovery Plan) โดยแบ่งเป็น 2 ล้านยูโรเพื่อความร่วมมือกับต่างประเทศโดยเฉพาะ ทั้งนี้เยอรมนีให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับต่างประเทศ เนื่องจากต้องการซื้อไฮโดรเจนสีเขียวเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยมีโครงการ H2 Global เป็นเครื่องมือหลักของรัฐบาลเยอรมนีที่จะสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยการให้บริษัทที่ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากต่างประเทศเข้าร่วมการประมูล เพื่อจําหน่ายไฮโดรเจนสีเขียวให้แก่เยอรมนีเป็นเวลา 10 ปี โดยคาดว่ารัฐบาลจะสามารถออกสัญญาฉบับแรกได้ภายในปีหน้าและเริ่มการขนส่งไฮโดรเจนสีเขียวจากต่างประเทศมาเยอรมนีเป็นครั้งแรกได้ในปี ค.ศ. 2024
.
ทางศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติไทยกล่าวว่า ไทยมีงานวิจัยด้านไฮโดรเจนและ Fuel Cell ที่มีมานานกว่าสองทศวรรษแล้ว โดยตีพิมพ์งานวิจัยแล้วกว่า 700 ชิ้น และผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญากว่า 30 ชิ้น โดยงานวิจัยการผลิตไฮโดรเจนและ Fuel Cell ในไทยจะเน้นการผลิตไฮโดรเจนจากหลายแหล่ง โดยเฉพาะจาก Ethanol และ Biogas ที่หาได้ง่ายในประเทศไทย ทั้งนี้ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติมีความร่วมมือด้านการวิจัยการผลิตไฮโดรเจนส่วนใหญ่กับจุฬาลงกรณ์ฯ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีผลงานวิจัยที่โดดเด่น เช่น การใช้พลังงานไฮโดรเจนกับรถยนต์ การส่งรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนเข้าร่วมแข่งขันในงาน Asia Shell Eco Marathon ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 และทีมของประเทศไทยเคยได้รับรางวัลในลำดับที่ 3 โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติมีความสนใจร่วมมือกับเยอรมนีในการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนในระดับที่ใหญ่ขึ้นเพื่อการพาณิชย์ ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีการผลิตในห้องทดลองเท่านั้นและยังไม่มีโครงการนําร่อง
.
TU Dresden ของเยอรมนีเริ่มมีการวิจัยด้านไฮโดรเจนมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 มีการเปิดสถานีพลังงานไฮโดรเจนครั้งแรกในยุโรปที่นครมิวนิกและนครฮัมบูร์กในปี ค.ศ. 1999 มีการจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อการวิจัยไฮโดรเจนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 – 2016 รวมจำนวนกว่า 700 พันล้านยูโร โดยหลังจากการประกาศแผนยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว โครงการและงานวิจัยไฮโดรเจนในเยอรมนีได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ TU Dresden มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศจำนวนมาก โดยสำหรับไทยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา มหิดล จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ สำหรับงานวิจัยด้านไฮโดรเจนใน TU Dresden มีทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ เช่น การพัฒนาเครื่องผลิตไฮโดรเจน วัสดุกักเก็บไฮโดรเจน และงานวิจัยด้านความปลอดภัย เป็นต้น โดยมีความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น Sunfire, Siemens, BMW, Rolls Royce ฯลฯ นอกจากนี้การรวมตัวของสถาบันต่าง ๆ ในรัฐ Saxony เพื่อบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาไฮโดรเจนและประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือกับต่างประเทศในระดับรัฐ และในปี 2565 TU Dresden มีโครงการที่จะเปิดรับนักศึกษาปริญญาโทด้านไฮโดรเจนด้วย
.
ทางด้านบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แทนกลุ่มพลังงานไฮโดรเจนของไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2562 และได้รวบรวมหน่วยงานจากทุกภาคส่วนในไทยเพื่อผลักดันการพัฒนาและใช้พลังงานไฮโดรเจน มุ่งสู่การเป็นสังคม Decarbonized Circular Economy ปัจจุบันมีสมาชิกจากกว่า 11 หน่วยงาน เช่น กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัทปตท. บริษัทโตโยต้า บริษัทบ้านปู บริษัทมิตซูบิชิ ฯลฯ โดยเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 ได้มีการจัดงาน The 1st Hydrogen Thailand Symposium และหวังว่าหน่วยงานจากเยอรมนีจะสนใจเข้าร่วมการหารือในปีต่อ ๆ ไปด้วย ทั้งนี้สำหรับไทยมีการหารือด้านการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนจากภาครัฐเป็นครั้งแรกในการประชุมระหว่างกระทรวงพลังงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ปี 2560 ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายระยะยาวด้านการเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน โดยภายในเดือนเมษายน ปี 2565
.
บริษัทปตท. บริษัทโตโยต้า และ Bangkok Industrial Gas Co., Ltd. จะร่วมกันจัดตั้ง Hydrogen Refueling Station & FCEV Demonstration Project แห่งแรกในไทย ซึ่งจะเปิดให้รถบัสและรถบรรทุกเข้าร่วมโครงการ ถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานชนิดนี้ในไทยรวมทั้งเป็นการประเมินความต้องการการใช้ไฮโดรเจนในภาคการขนส่งของไทยด้วย นอกจากนี้ บริษัทปตท. ยังมีโครงการนําร่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งแปลงเป็นไฮโดรเจนและกักเก็บไว้ใช้เป็นไฟฟ้าบนท้องถนนในจังหวัดปราจีนบุรี ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านไฮโดรเจนในไทยได้แก่ (1) นโยบายของรัฐบาล และ (2) ความต้องการที่จะพัฒนาด้านการกักเก็บพลังงานทดแทนของไทย
.
และบริษัท Sunfire GmbH กล่าวถึง การมุ่งสู่การลดใช้ Fossil Fuels จะต้องพึ่งพาพลังงานทดแทน โดยการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้าโดยตรงในปัจจุบันจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถกักเก็บหรือขนย้ายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนไว้ใช้ในภายหลังได้ ดังนั้น ต้องมีการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนที่สามารถกักเก็บเซลล์พลังงานที่ผลิตได้เพื่อขนส่งและนําไปใช้ในภายหลัง ซึ่งการสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานไฮโดรเจนเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างและพัฒนาตลาดไฮโดรเจน โดยบริษัท Sunfire ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2010 ที่เมืองเดรสเดน และมีสำนักงานในสวิตเซอร์แลนด์ มีนักพัฒนาเครื่อง electrolyzer ในบริษัทมากกว่า 250 คน โดยบริษัทมีการพัฒนาและจําหน่ายเครื่อง electrolyzer 2 ประเภท ได้แก่ Pressure Alkaline (AEL) และ Solid Oxide (SOEC) ทั้งนี้บริษัทได้รับทุนเพื่อการพัฒนาและวิจัยไฮโดรเจนรวมกว่า 100 ล้านยูโร เพื่อพัฒนาเครื่อง electrolyzer ที่มีศักยภาพสูง ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินโครงการพลังงานไฮโดรเจนกว่า 70 โครงการแล้ว โดยมีการติดตั้งเครื่อง electrolyzer ใน 24 ประเทศ เช่น ปิโตรนาสของมาเลเซีย NORSK E-FUE ของนอร์เวย์ และ Demo4Grid ของออสเตรีย ฯลฯ
.
จากการที่เยอรมนีเป็นผู้นำด้านพลังงานไฮโดรเจนและมีแผนยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นการสร้างตลาดสำหรับพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวที่ผลิตจากพลังงานทดแทน อีกทั้งส่งเสริมการวิจัยเพื่อการกักเก็บและขนส่งไฮโดรเจนควบคู่กับการพัฒนาความร่วมมือทางตลาดพลังงานไฮโดรเจนกับต่างประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมด้านพลังงานไฮโดรเจนนี้เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างความมั่นใจและบรรยากาศในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานไฮโดรเจนทั้งในด้านการวิจัยและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการประกอบธุรกิจด้านพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งสอดคล้องกับการที่ประเทศไทยมีงานวิจัยและผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สอดรับกับพลังงานไฮโดรเจน อีกทั้งประเทศไทยมีบริษัทที่ผลิตและใช้ไฮโดรเจนในอุตสาหกรรม ซึ่งไทยสามารถใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนได้ในภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคการขนส่ง ดังนั้น นักลงทุนและภาคเอกชนไทยควรพิจารณาโอกาสในการทำธุรกิจในด้านพลังงานไฮโดรเจนกับเยอรมนี ถือเป็นอุตสาหกรรมพลังงานที่ทั้งไทยและเยอรมนีมีศักยภาพร่วมกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าด้านการลงทุนและผลักดันเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เติบโตไปด้วยกัน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน