ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศเวเนซูเอลา หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 17.2 ของปริมาณน้ำมันที่ผลิตทั้งหมดทั่วโลก นอกจากนี้ ซาอุดีฯ เป็นประเทศที่มีพื้นที่และขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (GCC) อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of Petroleum Exporting Countries: OPEC) และเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของราคาและปริมาณน้ำมันในตลาดโลก รายได้จากการส่งออกน้ำมันของซาอุดีฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 90 – 95 ของรายได้การส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 – 80 ของรายได้รัฐบาล ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของ GDP ซาอุดีฯ ดังนั้น เศรษฐกิจของซาอุดีฯ จึงมีลักษณะพึ่งพาภาคน้ำมันสูง (oil dependence)
.
การที่เศรษฐกิจของซาอุดีฯ พึ่งพาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ซาอุดีฯ เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก เฉลี่ยปีละประมาณ 500 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.8 ของปริมาณก๊าซคาร์บอนทั้งหมดที่ปล่อยจากทุกประเทศ
.
การจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index – EPI) ในปี 2563 ซาอุดีฯ อยู่ในอันดับที่ 90 จาก 180 ประเทศ ซึ่งสะท้อนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ โดยซาอุดีฯ มีระดับการปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับที่ 152 ระดับคุณภาพอากาศ (air quality) อยู่ในอันดับที่ 93 มีระดับมลพิษจากโลหะหนักมากเป็นอันดับที่ 144 และมีระดับการสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มากเป็นอันดับที่ 176
.
ที่ผ่านมา ภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงซาอุดีฯ ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากปัญหาพื้นดินเสื่อมโทรมกลายสภาพเป็นทะเลทราย (desertification) ฝนตกในปริมาณน้อย รวมทั้งมีพายุทรายและมลภาวะต่างๆ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเฉลี่ยปีละ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของประชากรในภูมิภาค ทำให้ประชากรในภูมิภาคมีอายุขัยเฉลี่ยลดลง 18 เดือน โดยสาเหตุหลักมาจากเทคโนโลยีในการผลิตน้ำมัน ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐบาลหลายประเทศในตะวันออกกลางที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และยังคงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูง
.
อีกหนึ่งเหตุผลที่ซาอุดีฯ ประสงค์จะลดการพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันและสร้างความหลากหลายทางสาขาเศรษฐกิจ (economic diversification) คือเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดรับกับทิศทางการผลิตทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานทดแทน
.
ข้อริเริ่มซาอุดีฯ สีเขียว (Saudi Arabia Green Initiative)
สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อ ดังนี้
.
1.ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้มากกว่าร้อยละ 4 ของปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยทั้งหมด หรือประมาณ 130 ล้านตัน
.
การดำเนินการที่สำคัญ
1.ในแต่ละปี รัฐบาลซาอุดีฯ อัดฉีดเงินลงทุนมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับรัฐวิสาหกิจน้ำมันของซาอุดีฯ (Saudi Aramco) ในการคิดค้นกรรมวิธีผลิตพลังงานที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
2. ซาอุดีฯ มีข้อริเริ่มมากกว่า 35 โครงการ เพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานในซาอุดีฯ ให้มีประสิทธิภาพรวมถึงลดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง
3. ซาอุดีฯ มีแผนการลงทุนพัฒนาทางรถไฟ ระยะทาง 9,900 กิโลเมตร ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการจราจรและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่มาจากยานพาหนะต่างๆ
.
2. ปลูกต้นไม้จำนวน 1 หมื่นล้านต้น ทั่วประเทศซาอุดีฯ
การดำเนินการที่สำคัญ
1. ซาอุดีฯ ได้ปลูกต้นไม้ทั่วประเทศไปแล้วจำนวน 10 ล้านต้น ภายใต้กิจกรรม ‘Let’s Make it Green’
2. Saudi Aramco ได้ปลูกต้นโกงกางมากกว่า 4 ล้านต้น เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนบริเวณชายฝั่งทะเลของซาอุดีฯ
3. ซาอุดีฯ มีแผนการลงทุนในโครงการก่อสร้างโอเอซิสที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เมือง Al Ula เมืองอารยธรรมโบราณในมณฑลมาดีนะห์ มูลค่า 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. โครงการปรับปรุงทัศนียภาพและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงริยาด (Green Riyadh) จะช่วยพลิกโฉมกรุงริยาดให้มีพื้นที่สีเขียวกว่า 541 ตารางกิโลเมตร โดยมีต้นไม้ประมาณ 7.5 ล้านต้น
.
3. เพิ่มอาณาเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมไปถึงระบบนิเวศทั้งบนบกและในทะเล ให้ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศมากกว่าร้อยละ 30
การดำเนินการที่สำคัญ
1. ทางการซาอุดีฯ ได้จัดสรรพื้นที่ 82,700 ตารางกิโลเมตร เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และมีการจ้างบุคลากรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกว่า 1,100 คน โดยตั้งเป้าหมายที่จะจ้างบุคลากรให้ได้มากกว่า 10,000 คน ภายในปี 2568
2. ทางการซาอุดีฯ ได้เสนอให้ 75 เขตพื้นที่ต่างๆ ในซาอุดีฯ เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
.
4. การใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2573
การดำเนินการที่สำคัญ
1. กระแสไฟฟ้าในโครงการ The Line (โครงการก่อสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมือง Neom) และโครงการ Red Sea Project (โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและรีสอร์ทตามชายฝั่งทะเลแดง) จะผลิตจากพลังงานทดแทนทั้งหมด
2. ซาอุดีฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 9 โครงการทั่วประเทศซาอุดีฯ ซึ่งจะสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าให้แก่ซาอุดีฯ ประมาณ 3,760 เมกะวัตต์
3. ซาอุดีฯ ลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรกที่เมือง Sakaka มณฑล Al Jawf ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซาอุดีฯ ซึ่งมีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าการลดปริมาณรถยนต์บนถนนจำนวนประมาณ 120,000 คัน
.
ข้อริเริ่มตะวันออกกลางสีเขียว (Middle East Green Initiative)
1. ปลูกต้นไม้จำนวน 5 หมื่นล้านต้นในตะวันออกกลาง รวมต้นไม้ที่ซาอุดีฯ ปลูกจำนวน 1 หมื่นล้านต้น
2. สร้างพื้นที่ป่าไม้เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติให้ได้เท่ากับ 200 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 2 ล้านตารางกิโลเมตร
3. ร่วมกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภูมิภาคให้ได้มากกว่าร้อยละ 60
.
การดำเนินการที่สำคัญ
1. ซาอุดีฯ จะร่วมมือกับประเทศสมาชิก GCC และประเทศหุ้นส่วนอื่นๆ ในการปลูกต้นไม้ในเอเชียตะวันตกเพิ่มอีก 4 หมื่นล้านต้น
2. ซาอุดีฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำประจำปี ภายใต้ชื่อ Middle East Green Initiative Summit โดยเชิญผู้นำรัฐบาล นักธุรกิจ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินการไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
3. ซาอุดีฯ จะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในฐานะหุ้นส่วนในการวิจัยค้นคว้านวัตกรรมในการชลประทานจากน้ำที่ผ่านการบำบัด การทำฝนเทียม และการเพาะปลูกต้นไม้
.
ข้อริเริ่ม “ซาอุดีอาระเบียสีเขียว” และ “ตะวันออกกลางสีเขียว” มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การเสื่อมโทรมของพื้นดินกลายสภาพเป็นทะเลทรายและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ตามพันธกรณีของซาอุดีฯ ภายใต้ Rio Conventions จึงสามารถเห็นได้ว่า ข้อริเริ่มดังกล่าวเป็นการย้ำเจตนารมณ์ของซาอุดีฯ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมซาอุดีฯ ตามวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) ตลอดจนเป็นการสานต่อประเด็นสำคัญด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก
.
ประเทศไทยมีแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศผ่านนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) เพื่อการกลับคืนสู่ความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของโลกในอนาคต ผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่เกี่ยวข้อง อาจพิจารณาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของ ‘ข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียว’ และ ‘ตะวันออกกลางสีเขียว’ของประเทศซาอุดีฯ ในการเข้าไปประกอบธุรกิจที่มีพลวัตอย่างยั่งยืนต่อโลกในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด