นโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย ฉบับที่ 12 (12th Malaysia Plan – 12MP) ระยะ 5 ปี (2021-2025) มีวัตถุประสงค์ คือ “ครอบครัวมาเลเซีย – มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน” (Keluarga Malaysia – Prosperous, Inclusive, Sustainable) เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของทุกคนให้ดีขึ้น โดยเน้นย้ำ (1) การฟื้นตัวและเติบโตของเศรษฐกิจ (2) การกระจายความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค (3) การรักษาความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
.
โดยกลยุทธ์และข้อริเริ่มทั้งหมดภายใต้แผนนี้ มีความสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติปี 2030 พร้อมกับตั้งเป้าให้มาเลเซียเป็นประเทศที่มีรายได้และเทคโนโลยีขั้นสูง (high-tech, high income country) ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนภายในประเทศ (whole of nation approach)
.
ส่วนเป้าหมายหลัก (key goals) ของ 12MP ได้แก่ (1) GDP มาเลเซียเติบโตโดยเฉลี่ย 4.5-5.5 % ต่อปี (2) รายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ริงกิตต่อเดือนภายในปี 2025 (3) ช่องว่างรายได้ต่อหัวระหว่างคนบนคาบสมุครกับคนในรัฐ Sabah และรัฐ Sarawak จะลดลงเหลือ 2.5 และ 1.2 เท่าตามลำดับภายในปี 2025 (4) กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยของ GDP ที่ 45 % ภายในปี 2030 (เทียบกับระดับความเข้มข้นในปี 2005 สอดคล้องกับความตกลงปารีสปี 2015)
.
รัฐบาลมาเลเซียจัดสรรงบประมาณรวม 400 พันล้านริงกิต สำหรับต่อยอดโครงการเดิมและริเริ่มโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ ดังนี้
.
(1) กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยจะสามารถบรรลุเป้าหมายอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยในแต่ละภาคของเศรษฐกิจได้ เช่น ภาคการบริการ 5.2 % ภาคการผลิต 5.7 % ภาคเกษตร 3.8 % ภาคเหมืองแร่ 26 % ภาคก่อสร้าง 4.2 % และภาคการท่องเที่ยว 38 % คาดหวังว่าในปี 2025 มูลค่าต่อภาคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) จะคิดเป็น 45 % ของ GDP และ 25 % ของการส่งออก
.
ตั้งเป้า (1) การลงทุนของรัฐ (public investment) เติบโต 26 % ต่อปี โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐบาลมาเลเซียและค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital spending) ขององค์กรมหาชนที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน โดยเน้นโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (2) การลงทุนของภาคเอกชนฟื้นตัวและเติบโต 3.8 % ต่อปี หรือโดยเฉลี่ย 258 พันล้านริงกิต (ราคาปัจจุบัน)
.
จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่มีผลลัพธ์สูง ได้แก่ E&E Global Services การบินอวกาศฮาลาล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว ชีวมวล เกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งในส่วนการเปลี่ยนผ่าน (transition) ของ MSMEs ไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งนี้รัฐบาลมาเลเซียได้อนุมัติโครงการในการขับเคลื่อนกิจกรรมข้างต้นแล้ว เช่น กองทุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนสำหรับ R&D ของกลุ่มอุตสาหกรรมการบินอวกาศและ E&E นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต กองทุนทรัพย์สินทางปัญญา โครงการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
.
ริเริ่มนโยบายและกฎหมายเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับ Industrial Revolution 4.0 มาเลเซียคาดหวังจะยกระดับภาคการผลิตให้เป็นการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มที่มีราคาสูง (high-added-value) และอุตสาหกรรมของมาเลเซียมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก สำหรับการเติบโตในภาคเกษตรจะมีการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มผลิตผลและเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ
.
แสวงหาตลาดและผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือทางการค้าโดยการให้สัตยาบันความตกลงและการค้าเสรีต่าง ๆ เช่น RCEP (หมายเหตุ ที่ผ่านมาเวทีการเสวนาจัดโดยรัฐและสถาบันวิชาการมาเลเซียหลายแห่งได้เน้นย้ำจุดอ่อนในด้านความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และ MSMEs มาเลเซีย ได้แก่ know-how การเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ ๆ ในการคิดค้นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และสามารถตอบโจทย์ลูกค้านอกประเทศ)
.
ส่งเสริมศักยภาพของ MSMEs ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจมาเลเซียรวมประมาณ 1.2 ล้านรายที่ยังไม่มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพียงพอ และได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
.
(2) เสริมสร้างความเข้มแข็งของตัวเร่งการเติบโต (growth enablers) ได้แก่ (2.1) สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีใหม่และพยายามจะคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีของมาเลเซีย (2.2) มีเงินลงทุนภาคเอกชนเพิ่มเติมจำนวน 15 พันล้านริงกิต เพื่อเร่งการติดตั้งระบบ 5G ทั่วประเทศ และมีเป้าหมายที่จะเปิดให้บริการภายในสิ้นปีนี้ (2.3) มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มสัดส่วนเป็น 25.5 % ของ GDP ภายในปี 2025 พร้อมกับสนับสนุน ecosystem ในการพัฒนา gig economy เพื่อสร้างงานและโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน (2.4) ลดช่องว่างดิจิทัลระหว่างเมืองและชนบทโดยจะจัดตั้ง Malaysian Family Digital Centre (โดยดัดแปลงจาก Internet Centre, Rural Internet Centre and Rural Community Centre ที่มีอยู่แล้ว) สำหรับประชาชนมาใช้บริการในการทำ e-commerce การอบรมทักษะ และกิจกรรมการเรียนรู้ของชุมชน (2.5) ขับเคลื่อนโครงการก่อสร้าง เช่น ถนน รางรถไฟ ที่สำคัญให้แล้วเสร็จ เช่น โครงการ East Coast Rail Link (ECRL) (คาดจะแล้วเสร็จในปี 2026) Rapid Transit System Link (RTS) เชื่อม Johor Bahru กับสิงคโปร์ (จะเริ่มก่อสร้างในปลายปีนี้) ทางด่วนเชื่อม Kota Bharu กับ Kuala Nai (คาดจะแล้วเสร็จในปี 2025) (2.6) เร่งการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร เพื่อรองรับการพัฒนาไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยจะพัฒนาระบบการศึกษา เช่น เสริมสร้างความแข็งแกร่งการศึกษาระบบ STEM และ VEI และสร้างระบบการศึกษาขั้นสูงที่ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหา mismatch ในตลาดแรงงาน (2.7) สนับสนุนการสร้างงานที่มีทักษะสูงขึ้น (more skilled jobs) โดย (1) ดึงดูดการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น (2) สนับสนุนให้อุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านไปสู่ automation และ mechanization (3) จํากัดการรับแรงงานต่างชาติทักษะต่ำ และ (4) เสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและภาควิชาการ
.
จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย ฉบับที่ 12 ที่มาเลเซียจัดทำมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน และมุ่งเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจ พร้อมจัดสรรงบประมาณต่อยอดโครงการเดิมและโครงการใหม่ เช่น การลงทุนที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว ชีวมวล เกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งในส่วนการเปลี่ยนผ่าน (transition) ของ MSMEs ไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นโครงการที่ช่วยสร้างความมั่นใจและบรรยากาศในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นักลงทุนและภาคเอกชนไทยควรพิจารณาโอกาสในการทำธุรกิจในสาขาที่ไทยกับมาเลเซียมีศักยภาพร่วมกัน เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน การท่องเที่ยว ชีวมวล เกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้านการลงทุนและผลักดันเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เติบโตไปด้วยกัน