ช่วง 7 เดือนเเรกของปี 2564 สหภาพยุโรปนำเข้าสินค้าจากไทย มูลค่า 12,485.9 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 19.8% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 เเละมีการส่งออกสินค้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนเงิน 7,512.7 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 13.3% ส่งผลให้สหภาพยุโรปขาดดุลการค้าต่อไทยมูลค่า 4,973.2 ล้านยูโร คิดเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้น 36.1%
.
โดยเมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนเเรกของปี 2563 กลุ่มสินค้าที่นำเข้าจากไทยที่ได้รับความนิยมในประเทศสหภาพยุโรป เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องจักรเเละอุปกรณ์ขนส่ง (60.3%) กลุ่มเครื่องมืออุตสาหกรรมเบ็ดเตล็ด (15.8%) กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ (8.2%) เเละกลุ่มอาหารเเละสัตว์มีชีวิต (7.5%)
.
โดยประเทศสมาชิก EU ที่นำเข้าสินค้าจากไทยที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น อิตาลี (42.5%) เบลเยี่ยม (30%) เยอรมนี (26.8%) สเปน (24.6%) ฝรั่งเศส (22%) ออสเตรีย (20.9%) โปเเลนด์ (16.7%) สาธารณรัฐเช็ก (11.7%) เนเธอเเลนด์ (9.5%) เเละฮังการี (22%)
.
ในขณะที่ประเทศสมาชิก EU ที่ส่งออกสินค้ามาสู่ไทยเพิ่มขึ้น เช่น เดนมาร์ก (44.3%) โปเเลนด์ (38%) สเปน (25.5%) อิตาลี (19.5%) เยอรมนี (17.8%) ฝรั่งเศส (12.7%) เบลเยี่ยม (2.4%) เนเธอร์เเลนด์ (0.1%) เเต่ประเทศสวีเดนเเละออสเตรียมีการส่งออกมาไทยลดลงในอัตรา 19.6% เเละ 14.9% ตามลำดับ
.
นอกเหนือจากการขาดดุลของสหภาพยุโรปต่อประเทศไทยที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง 36.1% เเละจำนวนการนำเข้าสินค้าไทยสู่สหภาพยุโรปที่มีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศสมาชิก เช่นเดียวกับตัวเลขดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายรายการในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อัตราการจ้างงาน ดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจประกอบกับอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่องสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป อย่างไรก็ตามยังคงมีบางภาคส่วนที่ดัชนีชี้วัดยังคงลดลง เช่น ปริมาณการค้าปลีก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายขายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index-PMI) สะท้อนการขยายตัวที่ลดลงของภาคอุตสาหกรรมเเละบริการในมุมมองของฝ่ายจัดซื้อ
.
ถึงเเม้ว่ากฎระเบียบด้านการค้าของสหภาพยุโรปจะมีแนวโน้มที่เข้มงวดขึ้นทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมเเละกระบวนการผลิตซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยท่ามกลางสถานการณ์การเเพร่ระบาดของ COVID-19 เเต่หากมองในอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าไปแสวงหาช่องทางลงทุนในยุโรป ทั้งการเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุนในกิจการที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงหรือมีเครือข่ายฐานการตลาดขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศยุโรปตะวันออกเพื่อลดต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้าภายในภูมิภาคยุโรป ขณะที่มาตรฐานการผลิตที่สูงของยุโรปจะเป็นใบเบิกทางในการส่งออกสินค้าต่อไปยังประเทศที่สามได้อีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เเละ คณะผู้เเทนไทยประจำสหภาพยุโรป