ด้านการส่งออก มีมูลค่า 21.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.95 จากมูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2564 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ส่วนการให้ความช่วยเหลือ MSMEs และให้สิทธิประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจของรัฐบาลอินโดนีเซียผ่านงบประมาณ National Economic Recovery (PEN) เป็นไปด้วยดี โดย ณ วันที่ 27 กันยายน 2564 มีการเบิกจ่ายเพื่อช่วยเหลือ MSMEs แล้ว 4.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 42 และเงินสิทธิประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจจำนวน 4.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 94
.
ส่วนมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเดือนสิงหาคมที่สำคัญ ได้แก่ (1) สินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ มีมูลค่า 20.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 63.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสาขาที่น่าสนใจ คือ สินค้าเกษตร โดยในภาพรวม ซึ่งไม่รวมสินค้าจากอุตสาหกรรมป่าไม้นั้น มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า อุตสาหกรรมด้านการแปรรูป (processing industry) มียอดส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 52.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะการแปรรูปน้ำมันปาล์มดิบ เหล็กกล้า ตะกั่ว และอุตสาหกรรมเหมือนแร่ โดยเฉพาะถ่านหิน ทองแดง ลิกไนต์ ที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 162.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ (2) สินค้าน้ำมันและก๊าซ มีมูลค่า 1.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 77.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
.
ทั้งนี้ พัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ของกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างจัดตั้งองค์กรพันธมิตรการขนส่งทางเรืออินโดนีเซีย (Indonesian Shipping Enterprise Alliance – SEA) เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าอินโดนีเซีย โดยการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการส่งออกของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งหมดในอินโดนีเซีย
.
ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 16.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 55.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบการผลิตในอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 75.61 ของมูลค่าทั้งเดือนนี้ ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เริ่มฟื้นตัวขึ้น และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดกิจการมากขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการฉุกเฉินเพื่อจำกัดกิจกรรมระดับชุมชน (PPKM) และการอนุญาตให้เดินทางข้ามจังหวัด
.
ส่วนมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของเดือนสิงหาคมที่สำคัญ ได้แก่ (1) สินค้าสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ ซึ่งมีมูลค่า 14.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 49.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ (2) สินค้าประเภทน้ำมันและก๊าซ มีมูลค่า 2.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 115.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยประเทศที่อินโดนีเซียนำเข้าสินค้าประเภทน้ำมันและก๊าซมากที่สุด 3 อันดับแรก ในห้วงเดือน มกราคม – สิงหาคม 2564 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้
.
ด้านการได้ดุลการค้าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้ดุลการค้า 4.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในห้วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 อินโดนีเซียได้ดุลการค้าทั้งหมด 19.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการได้ดุลการค้าต่อเนื่องกัน 16 เดือน โดยมูลค่าส่งออกของอินโดนีเซียในเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 142.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมูลค่านำเข้าในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 122.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
ด้านการค้าไทย – อินโดนีเซีย ในห้วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 มีมูลค่า 11,226.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยัง อินโดนีเซียเป็นมูลค่า 5,697.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียเป็นมูลค่า 5,528.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งไทยได้ดุลการค้า 168.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
ในเดือนสิงหาคม 2564 อินโดนีเซียส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซไปยังไทย เป็นมูลค่าประมาณ 446.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นประเทศที่อินโดนีเซียมีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดเป็นลำดับที่ 10 ของเดือนนี้ (คิดเป็นร้อยละ 2.19 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) และอินโดนีเซียนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซจากไทยเป็นมูลค่า 780.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศที่อินโดนีเซียมีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุดของเดือนนี้ (คิดเป็นร้อยละ 5.33 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด) ทำให้ไทยได้ดุลการค้าประมาณ 334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
ไทยและอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีต่อกันมาโดยตลอด โดยอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของโลก และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามแนวโน้มการบริโภคสินค้าประเภทต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะ สินค้าการเกษตร เช่น ผลไม้สดและแห้ง มันสำปะหลัง ข้าว สินค้าปศุสัตว์ และอาหารกระป๋อง นอกจากนี้ การที่ไทยมีสินค้าและตลาดฮาลาลที่ใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการอินโดนีเซียนิยมนำเข้าสินค้าฮาลาลจากไทยมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ การหาวัตถุดิบที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ และสุขภาพ หรือออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่น่าดึงดูด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะสามารถเพิ่มโอกาสในการเจาะตลาดอินโดนีเซียได้มากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังควรศึกษาการใช้ประโยชน์จากเขตการเสรีอาเซียน และติดตามการเปิดเจรจาความร่วมมืของ Indonesian Shipping Enterprise Alliance เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าไทยได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต รวมถึงการพัฒนาตลาดการค้าปลีกออนไลน์ให้ง่ายต่อการเข้าถึง ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญในการค้าขายร่วมกับผู้ประกอบการต่างชาติในยุคนี้
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา