เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 บริษัท Climeworks ของสวิตฯ ร่วมกับ บริษัท Carbfix และ บริษัท ON Power ของไอซ์แลนด์ ได้เปิดตัวโรงงาน Orca ซึ่งมีความสามารถในการดักจับ CO2 จากอากาศและกักเก็บไว้ใต้ดินเป็นการถาวรขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงงาน Orca ที่ไอซ์แลนด์นอกจากจะเป็นเพราะสภาพทางธรณีวิทยาที่เหมาะสมแล้ว ไอซ์แลนด์ยังเป็นผู้บุกเบิกด้านพลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานที่นำมาใช้ในโรงงาน Orca ก็มาจากพลังงานหมุนเวียนที่ได้จากโรงงานพลังงานความร้อนใต้พิภพ Hellisheidi ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน
.
การก่อสร้างโรงงาน Orca เริ่มเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 โดยติดตั้งเป็นหน่วยย่อยของเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาต่อกันในลักษณะของหน่วยสะสมขนาดเท่าตู้สินค้าที่เรียงซ้อนกันเป็นแผง ซึ่งช่วยทำให้สามารถเปิดดำเนินการได้ภายใน 15 เดือน โรงงานดังกล่าวจะดำเนินการแยกก๊าซ CO2 ออกจากอากาศ โดยใช้ตัวกรองพิเศษที่ออกแบบโดย บริษัท Climeworks ด้วยเทคโนโลยีดักจับก๊าซ CO2 (Direct Air Capture: DAC) แล้วนำก๊าซ CO2 ที่ได้ไปผ่านการเร่งกระบวนการแปลงเป็นแร่ธาตุ (mineralization) ที่พัฒนาโดย บริษัท Carbfix ด้วยการผสมน้ำและอัดเข้าไปในหินบะซอลต์ที่ความลึก 800 – 2,000 เมตร ใต้พื้นดิน ซึ่งด้วยปัจจัยหลาย ๆ ประการประกอบกัน ทั้งแรงดัน ความชื้น และแร่ธาตุ จึงทำให้ก๊าซ CO2 ฝังอยู่ในหินเช่นนั้นได้เป็นเวลาหลายล้านปี โดยไม่มีโอกาสที่ก๊าซดังกล่าวจะรั่วไหลจากใต้ดินกลับเข้าสู่อากาศได้ แม้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดก็ตาม
.
โรงงาน Orca สามารถที่จะดักจับ CO2 จากอากาศได้มากถึง 4,000 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประชากรในยุโรปจำนวน 600 รายต่อปี ซึ่งแม้จะไม่มากนักเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์
.
ตามรายงานของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) ปัจจุบันมีโรงงานที่ใช้เทคโนโลยี DAC จำนวน 15 แห่งทั่วโลก ซึ่งสามารถดักจับก๊าซ CO2 ได้กว่า 9,000 ตันต่อปี ซึ่ง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – IPCC) เชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น หากจะต้องจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยการดักจับก๊าซ CO2 จากอากาศทุก 1 1 ตัน จะเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณ 1 ตัน เช่นกัน
.
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังคงมีคำถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีการดักจับก๊าซ CO2 ของ บริษัท Climeworks ซึ่งการศึกษาเมื่อปี 2563 พบว่า การดักจับก๊าซ CO2 จำนวน 100 ล้านตัน หรือเท่ากับ 1/400 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกใน 1 ปี จะต้องใช้พลังงานหมุนเวียนจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่สหรัฐฯ ผลิตได้ทั้งหมดในปี 2561 และใช้พื้นที่สำหรับติดตั้ง DAC มากกว่าประเทศศรีลังกาทั้งประเทศ รวมทั้งยังมีข้อสงสัยอีกหลายประการซึ่งยังต้องใช้เวลาในการประเมิน อาทิ ความปลอดภัย ความสมดุลของก๊าซ CO2 และความคุ้มค่าของราคา เป็นต้น
.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางของโลกภายหลังยุค COVID-19 จะให้ความสำคัญกับมิติด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติที่ไทยเร่งผลักดันทั้งในบริบทภายในประเทศและระหว่างประเทศ ผ่านการเป็นประธานการประชุม BIMSTEC และ APEC ตั้งแต่ปลายปี 2564-2565 ดังนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ควรเร่งที่จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิตในโรงงาน โดยอาจพิจารณาศึกษาการนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ จากประเทศพันธมิตรมาปรับใช้ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ตามแผนงานที่ไทยวางไว้ในปี 2608 – 2613 (ค.ศ. 2065 – 2070) รวมไปถึงเพื่อผลประโยชน์ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยในอนาคตต่อไปด้วยเช่นกัน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.reuters.com/business/environment/worlds-largest-plant-capturing-carbon-air-starts-iceland-2021-09-08/?taid=613889a56edf5a000104be72&utm_campaign=trueanthem&utm_medium=trueanthem&utm_source=twitter