สถานการณ์การแข่งขันของสินค้าและบริการเป้าหมายภายในตลาด สปป.ลาว
.
สปป.ลาว นำเข้าสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย อะไหล่ ชิ้นส่วน และส่วนประกอบของรถยนต์ ผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารกึ่งสําเร็จรูป เครื่องปรุงรสอาหาร ตลอดจนเครื่องใช้สอยในชีวิตประจําวันมาจากตลาดอื่นเพิ่มมากขึ้น และนำมาจําหน่ายตามท้องตลาดในเมืองใหญ่ เช่น นครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงอื่นๆ ที่มีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปดําเนินกิจกรรมโครงการลงทุนและพักอาศัย โดยส่วนใหญ่จะมีการสั่งซื้อและนําเข้าสินค้าดังกล่าวมาจากประเทศตนเอง ทั้งเพื่อการบริโภคและจัดจําหน่ายให้แก่นักลงทุนหรือนักธุรกิจด้วยกันให้ เสมือนกับว่าเป็นการใช้เครื่องแต่งกายและบริโภคอาหารอยู่ในบ้านของตนเอง ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากย่านที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก จากสถานการณ์ดังกล่าวทําให้สถิติการนําเข้าสินค้าของ สปป.ลาว มีการกระจายจากหลายตลาด ทั้งนี้เนื่องด้วยระบบการคมนาคมขนส่งมีความสะดวกสบายและมีการเชื่อมโยงกันเพิ่มมากขึ้น จึงมีสัญญานเตือนว่า ในอนาคตสภาวะการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาด สปป.ลาว อาจจะเผชิญกับสิ่งท้าทายและอาจต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง
.
ด้านกลยุทธ์ของประเทศและบริษัทต่างชาติที่เป็นคู่แข่งขัน
1. ด้านประเทศคู่แข่งของไทย
ประเทศคู่แข่งของไทยที่เข้าไปเชื่อมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุนใน สปป.ลาว ใช้กลยุทธ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงรัฐบาลและประชาชน สปป.ลาว ทั้งปัจจุบันและในอนาคต ดังนี้
- ให้ความสําคัญกับนโยบายการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคของรัฐบาล สปป. ลาว เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนในเขตทุรกันดาร
- ให้ความสําคัญกับนโยบายการเป็นประเทศทางผ่านและการเชื่อมโยงอนุภูมิภาคของรัฐบาล สปป.ลาว เนื่องจาก สปป.ลาว ไม่มีพื้นที่ติดกับทะเล แต่มีความจําเป็นต้องขนส่งสินค้าเข้าออกผ่านทะเล ดังนั้น ประเทศเพื่อนบ้านที่มีทางออกสู่ทะเลจึงเอื้ออํานวยความสะดวกให้แก่ สปป.ลาว ในการออกสู่ทะเลได้อย่างสะดวกเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกในหลายมิติ
- ให้ความสําคัญกับการเดินทางเยือนซึ่งกันและกันระหว่างผู้บริหารระดับสูง (State Visit) ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นการสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกัน แม้ว่าแต่ละประเทศจะประสบกับปัญหาโรคระบาด
2. กลยุทธ์ของบริษัทต่างชาติ
- เป็นตัวแทนรับซื้อสินค้าประเภทต่างๆ รวมทั้งสินค้าเกษตรและปศุสัตว์จาก สปป.ลาว ไปขายในตลาดต่างประเทศ
- จัดหาตลาดสินค้าในต่างประเทศให้แก่สินค้าที่มีศักยภาพของ สปป.ลาว เช่น กาแฟ สินแร่ ผลิตภัณฑ์ไม้ และอื่นๆ
- นําเข้าสินค้าที่มีความจําเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับรากหญ้าของ สปป.ลาว เช่น เทคโนโลยีเครื่องจักร เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องจักรเครื่องมือพัฒนาสินแร่ เทคโนโลยีการสื่อสาร โทคโนโล ยีทางการแพทย์และยารักษาโรค
3. ความต้องการสินค้าและบริการและแนวโน้มตลาด
สินค้าที่ตลาดสปป.ลาว ยังมีความต้องการ และมีการนําเข้าอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุน สินค้าปัจจัยการผลิต สินค้าสําหรับใช้ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค โครงการขุดค้นเหมืองแร่ โครงการด้านการเกษตร และอื่นๆ เช่น เครื่องจักรกล อุปกรณ์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล น้ำมันดีเซล พาหนะ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบของพาหนะ เครื่องใช้ที่ทําด้วยพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ที่ทําด้วยเหล็ก วัสดุก่อสร้าง เยื่อไม้และเศษกระดาษ อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสินค้าหมวดหลัก ๆ ที่ตลาด สปป.ลาว มีความต้องการและคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีการนําเข้าอย่างต่อเนื่อง
.
ผู้ประกอบการไทยควรวางแผนกลยุทธ์เพื่อเข้าถึงตลาด สปป.ลาว โดยใช้จุดเด่นในเรื่องของภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยในการติดต่อซื้อ-ขาย ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ อีกทั้งควรเร่งพัฒนาสินค้าประเภทอุปกรณ์สำหรับใช้ในการก่อสร้างสาธารณูปโภค เช่น เครื่องจักรกล อุปกรณ์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เพื่อดึงดูดนักลงทุนใน สปป.ลาว ให้หันมานำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น
.
สถานเอกอัคราชทูต ณ เวียงจันทน์