เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เยอรมนีได้จัดการประชุมสุดยอดด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ (Autogipfel) ในรูปแบบออนไลน์ระหว่างนาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีสหพันธ์ฯ รัฐมนตรีในรัฐบาลรัฐต่างๆ ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี สหภาพแรงงานสาขาอุตสาหกรรมรถยนต์ นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ทำการจัดตั้งกองทุนสําหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ จำนวน 1 พันล้านยูโร เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนี จากการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนแบบสันดาป สู่การผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือพลังงานอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี 2568 โดยแบ่ง เงินกองทุนออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ (1) การจัดตั้งเครือข่ายเพื่อเป็นศูนย์พัฒนายุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ จํานวน 340 ล้านยูโร (2) การพัฒนาระบบดิจิทัล จํานวน 340 ล้านยูโร และ (3) การสนับสนุนกลุ่ม SMEs จํานวน 320 ล้านยูโร เพื่อมุ่งสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิง รวมถึงใช้เป็นกองทุนสําหรับการฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่พนักงาน
.
นาง Hitdegard Muller ประธานสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ ได้แสดงความเห็นด้วยกับการจัดตั้งเงินกองทุนของรัฐบาลเยอรมนี เนื่องจากเห็นว่าเงินกองทุนดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนการจ้างงาน และกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ นอกจากนี้ นาง Muller ยังให้ความเห็นว่าการเร่งขยายการ สร้างสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคเป็นสิ่งจําเป็นอย่างยิ่งสําหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ และได้เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนี ต่อรองกับคณะกรรมาธิการสามัญ EU ให้ขยายระยะเวลาในการตั้งเป้าหมายในการกําหนดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สําหรับรถยนต์ที่ผลิตใหม่ให้เข้มงวดขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 95g COg/km และรถตู้อยู่ที่ 47g CO2/km ระหว่างปี 2563-2567
.
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจราจรขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของเยอรมนี เช่น เยอรมนีเพื่อสิ่งแวดล้อมและการปกป้องธรรมชาติเยอรมัน (Bund fur Umwelt und Naturschutz Deutschland) Greenpeace ยังได้ออกมาเรียกร้องให้ รัฐบาลเยอรมันหยุดใช้นโยบายด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศที่ไม่มีการกําหนดทิศทางและเป้าหมายที่แน่นอน และต้องหยุดสนับสนุนการผลิตรถยนต์แบบ Plug-In-Hybrid โดยใช้เงินภาษีของประชาชน นอกจากนี้ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ยังได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีเร่งวางมาตรการที่ชัดเจนสําหรับภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้เร็วที่สุดด้วย
.
นอกจากการตั้งมั่นในการลงทุนด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศแล้ว เยอรมนียังได้ขยายฐานการลงทุนในสาขานี้ไปยังหลายประเทศ หากแต่ในขณะนี้ อาเซียนอาจยังไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ ผู้ประกอบการไทยจึงสามารถใช้โอกาสนี้ในการดึงดูดการลงทุน ผ่านการขยายความร่วมมือในการเปิดเขตการค้าเสรีกับต่างประเทศ เช่น เขตการค้าเสรีไทย-ยุโรป CPTPP เป็นต้น และควรศึกษาการลงทุนด้านรถยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้า ในพื้นที่ EEC ซึ่งจะสามารถรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งยังสามารถผลักดันศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อก้าวไปสู่แหล่งฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน