เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 สิงคโปร์เปิดตัวสถาบันการเงินดิจิทัลแห่งเอเชีย (Asian Institute of Digital Finance – AIDF) ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) วิทยาเขต Kent Ridge โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ในงาน SFF X SWITCH ธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ร่วมกับ NUS และ มูลนิธิวิจัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National Research Foundation – NRF) ได้ประกาศแผนการจัดตั้งสถาบัน AIDF เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการบริการด้านการเงินดิจิทัลในเอเชียซึ่งกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ สถาบัน AIDF ได้ร่วมมือกับภาคธนาคารและธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ชั้นนำ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมากกว่า 20 แห่ง ออกแบบหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกด้าน FinTech เป็นครั้งแรกของสิงคโปร์ที่ได้จัดทำหลักสูตรเฉพาะด้าน FinTech ในระดับปริญญาเอก โดยมุ่งเน้นการวิจัยพื้นฐานและสหวิทยาการประยุกต์ (interdisciplinary applied research) โดยเฉพาะการเงินสีเขียว และการวิเคราะห์สินเชื่อเชิงลึก ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ Tan Eng Chye อธิการบดี NUS กล่าวว่า การวิจัยของ AIDF จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงการเงินดิจิทัลแบบ Business to Business (B2B) ของสิงคโปร์
.
โดยในปีที่ผ่านมา ธุรกิจ FinTech มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ภาคธุรกิจ FinTech ทั่วโลกเติบโตเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายได้รวมมากถึง 98,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์กว่าในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ รายได้ของกลุ่มธุรกิจ FinTech จะเพิ่มขึ้น 3 เท่า เป็นประมาณ 240,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569 สำหรับตัวอย่างธุรกิจ FinTech ที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิมทั่วโลก เช่น (1) บริษัท Riskified ของอิสราเอล ใช้การวิเคราะห์พฤติกรรมและข้อมูลมหัต (Big Data) เพื่อตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกง (2) บริษัท Pitchbook ของสหรัฐฯ แพลตฟอร์มที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูลแบบเชิงลึกสำหรับนักลงทุน (3) แพลตฟอร์มแนะนำการลงทุนอัตโนมัติ (Robo-advisors) ของสิงคโปร์ ซึ่งใช้ชุดคำสั่งแก้ปัญหาตามขั้นตอน (Algorithm) เช่น EndowUs และ Syfe
.
ระบบนิเวศ FinTech ของสิงคโปร์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเติบโตขึ้นหลายสิบเท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน สิงคโปร์มีธุรกิจ FinTech มากกว่า 1,400 ราย เพิ่มขึ้นจาก 50 รายเมื่อปี 2559 ทั้งนี้ ภาค FinTech ในสิงคโปร์ดึงดูดการระดมทุนและการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions – M&A) มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.34 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปี 2562 นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัล ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญในการเปิดเสรีภาคการธนาคารของสิงคโปร์
.
การส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการเงินของสิงคโปร์
.
1.สิงคโปร์ส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการเงินข้ามพรมแดน เช่น โครงการAPI Exchange (APIX) ภายใต้การกำกับดูแลของ ASEAN Financial Innovation Network (AFIN) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่าง MAS สมาคมธนาคารอาเซียน (ASEAN Bankers Association – ABA) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation – IFC) ที่จะช่วยเชื่อมต่อ FinTech กับสถาบันการเงินกว่า 600 แห่ง ทั่วโลก เพื่อทดลองแนวคิดใหม่ ๆ และร่วมกันออกแบบวิธีการแก้ปัญหา (solutions) ผ่านสภาพแวดล้อมจำลองบนอินเตอร์เน็ต (cloud sandbox) เช่น บริษัท Geniusto FinTech ของออสเตรเลีย และธนาคาร Cantilan ของฟิลิปปินส์ ร่วมกันพัฒนาการให้บริการธนาคารและการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile banking) นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จแล้วคือ การเชื่อมโยง PayNow ของสิงคโปร์ กับ PromptPay ของไทย
.
2.สิงคโปร์ มุ่งเป้าเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและFinTech สีเขียว โดยสถาบัน AIDF ได้จัดตั้งความร่วมมือ FinTech สีเขียว กับธนาคาร MUFG ของญี่ปุ่น และธุรกิจ FinTech ในสิงคโปร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัท iAPPS และบริษัท CriAT รวมถึงหน่วยงาน NGO เช่น Zoological Society of London ของสหราชอาณาจักร เพื่อพัฒนาความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร โดยใช้ Internet of Things (IoT) และแผนที่ดาวเทียมในการรวบรวมข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีคุณภาพ และตรวจสอบได้จากเกษตรกร ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว สถาบันฯ จะสามารถสร้างแบบจำลองการคาดการณ์จากข้อมูลเชิงลึก และติดตามการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ส่งผลให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) เพื่อสนับสนุนธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนต่อไป
.
3.สิงคโปร์จะขยายเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจSMEs โดยจะจัดตั้งองค์กรวิเคราะห์สินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Credit Analytics Consortium) แพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบรวมศูนย์ของภาคการเงินแห่งแรกของสิงคโปร์ เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบการประเมินสินเชื่อ (credit assessment) ร่วมกัน โดยใช้ระบบ Algorithm กับชุดข้อมูลจากสถาบันการเงิน เช่น การผิดนัดชำระหนี้ และการทวงหนี้สิน debt recovery เพื่อลดความเสี่ยงสำหรับธนาคาร และช่วยให้ธุรกิจ SMEs จ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ย่อมเยาลง ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่ขับเคลื่อนด้วย AI หลายแห่ง เช่น Funding Society FundOn และ GreenArc จะเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงปลายปี 2564 และหวังว่าจะขยายความร่วมมือนี้ไปยังส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังคงมีธุรกิจ SMEs ที่ไม่สามารถเติบโตได้เนื่องจากแหล่งทุนไม่เพียงพอ
.
จะเห็นได้ว่า สิงคโปร์ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงินของประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสถาบันการเงินดิจิทัล การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการเงินข้ามพรมแดน หรือการขยายเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ SMEs เหล่านี้ต่างแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในสิงคโปร์ต่างให้ความสำคัญกับแนวทางการนำเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่หันมาสนับสนุนการลดการใช้เงินสด โดยประเทศไทยเองนั้นมีศักยภาพในด้านนี้เช่นเดียวกัน จะเห็นได้จากการก้าวข้ามการชำระเงินผ่านบัตรมาเป็นการชำระเงินผ่าน QR Code ซึ่งผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการเงินที่สนใจนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มขึ้น สามารถพิจารณาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ รวมไปถึงทรัพยากรมนุษย์กับหน่วยงานในสิงคโปร์เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินต่อไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจการลงทุนด้านการเงินในต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อไปลงทุนในสิงคโปร์ได้
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์