สถานการณ์งบประมาณรัฐบาลเยอรมัน และรัฐบาลรัฐต่างๆ ของเยอรมนี
.
สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี ได้รายงานตัวเลขการใช้งบประมาณของรัฐบาลเยอรมัน และรัฐบาลของรัฐต่าง ๆ ของเยอรมนี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งขาดดุลรวมทั้งสิ้นจํานวน 80.9 พันล้านยูโร หรือคิดเป็นเป็นร้อยละ 4.7 ของ GDP เยอรมนี ซึ่งนับว่าเป็นการขาดดุลงบประมาณที่สูงที่สุดเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่เยอรมนีมีการรวมประเทศระหว่างเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2534 และเกิดการขาดดุลงบประมาณครั้งแรกในปี 2538 โดยรัฐบาลเยอรมันและ รัฐบาลในรัฐต่าง ๆ ของเยอรมนี มีค่าใช้จ่ายรวมจํานวน 879.2 พันล้านยูโร ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะที่มีรายรับจากการจัดเก็บภาษีรวมเพียงจํานวน 798.3 พันล้านยูโร
.
จากสถานการณ์การขาดดุลงบประมาณของเยอรมนีนั้น นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารกลางเยอรมนี (Deutsche Bundesbank) และธนาคาร ING-DiBa ได้มีความเห็นว่า งบประมาณส่วนใหญ่ของรัฐบาลเยอรมัน และรัฐบาลรัฐต่างๆ ของเยอรมนี ได้ใช้ไปเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น ค่าวัคซีน ค่าใช้จ่ายชดเชยให้แก่โรงพยาบาล เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการรับมือการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ของรัฐบาลเยอรมันในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจเยอรมันฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Deutsche Bank ได้คาดการเพิ่มเติมว่าเศรษฐกิจเยอรมันจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภายในสิ้นปี 2564 และงบประมาณขาดดุลของเยอรมนีจะลดลงร้อยละ 1.5 ในปี 2565 เนื่องจากรัฐบาลเยอรมัน และรัฐบาลรัฐต่างๆ ของเยอรมนีจะสิ้นสุดภาระการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
.
การแข่งขันด้านอุตสาหกรรมส่งออกของเยอรมนีกับจีน
.
จากข้อมูลการศึกษาวิจัยของสถาบันเศรษฐกิจเยอรมัน (German Economic Institute) อุตสาหกรรมการส่งออกของเยอรมนีไปยังตลาด EU กําลังเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงกับจีน เนื่องจากจีนมีแนวโน้มขยายการส่งออกสินค้าไปยังตลาด EU มากขึ้น โดยที่ผ่านมาสินค้าที่จีนส่งออกไปยัง EU เป็นเพียงสินค้าประเภทสิ่งทอ ของเล่น และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปเท่านั้น แต่ปัจจุบันจีนได้ส่งออกสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน (Sophisticated Product) เช่น สินค้าด้านวิศวกรรมเครื่องกล เวชภัณฑ์ และยานยนต์ ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าสําคัญที่เยอรมนีส่งออกไปยังตลาด EU และทั่วโลก โดย EU นําเข้าสินค้ารวมทุกประเภทจากจีน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.7 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 68.2 ในปี 2562 ทั้งนี้ รัฐบาลจีนตั้งเป้าที่จะผลักดันอุตสาหกรรมของประเทศสู่การเป็นผู้นําด้านอุตสาหกรรมของโลกให้สําเร็จภายในปี 2592
.
ถึงแม้ว่าเยอรมนีจะกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่สูงอยู่ แต่กลับมีสภาวะการค้ากับไทยในทางที่ดี โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 สูงถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.2 ภาคการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.45 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.76 ซึ่งการที่เยอรมนีเร่งผลักดันส่งออกสินค้าด้านวิศวกรรมเครื่องกล เวชภัณฑ์ และยานยนต์ต่างๆ เพื่อแข่งขันกับจีน อาจเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบไทยในการนำเข้าสินค้าสัญชาติเยอรมัน ที่อาจเจรจาตกลงราคาสินค้าได้ในราคาที่ถูกลงได้ อย่างไรก็ตาม การที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเยอรมนีเริ่มกลับมาฟื้นตัว ยังเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการส่งออกในการส่งออกสินค้าต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ และแผงวงจรต่างๆ ที่เยอรมนีนิยมนำเข้าจากไทย โดยเฉพาะ สินค้า OTOP และอาหารเกษตรแปรรูปที่เน้นเรื่องสุขภาพ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในประชากรรุ่นใหม่อย่างกว้างขวางในขณะนี้
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน