การค้าอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Commerce มีบทบาทสําคัญในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ดี ผลการวิจัย นโยบายการพัฒนา E-Commerce ใน สปป. ลาว พบว่าการพัฒนาด้าน E-Commerce ของ สปป. ลาวยังอยู่ ในช่วงเริ่มต้น โครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการทํา E-Commerce โดยเฉพาะระบบ ICT ระบบชําระเงิน และระบบขนส่งยังพัฒนาช้ากว่าหลายประเทศ รายงานวิจัยนโยบายการพัฒนา E-Commerce ใน สปป. ลาว ของ ดร. จันผาสุก วิดาวง ร่วมกับแผนกค้นคว้านโยบายการค้า สถาบันค้นคว้าเศรษฐกิจการค้า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว ได้นําเสนอ ปัจจัยสําคัญในการพัฒนา E-Commerce ดังนี้
.
(1) โครงสร้างพื้นฐานธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (E-Business Infrastructure) ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานสําหรับการค้าขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีความจําเป็นต้องมีระบบ ICT ที่รองรับให้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับสากล อินเทอร์เน็ตต้องมีความเร็วสูงและมีความเสถียร ประชากรต้องเข้าถึงและรู้จักการใช้โทรศัพท์ที่สามารถรองรับระบบ ดิจิทัลมากขึ้น เมื่อเทียบตัวชี้วัดดังกล่าว พบว่า สปป. ลาวยังอยู่ในระดับการพัฒนาที่ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน
.
(2) การปกป้องข้อมูล ปัจจุบัน สปป. ลาวได้ประกาศใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลแล้ว เช่น กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต กฎหมายว่าด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายว่าด้วยการปกป้อง ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายว่าด้วยเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานสําหรับคุ้มครองข้อมูลดิจิทัล สร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับภาคธุรกิจและความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปกป้องข้อมูลของผู้ทําธุรกรรม E-Commerce ในรูปแบบต่าง ๆ การสร้างความเข้าใจและการรับรู้เกี่ยวกับระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้อง ข้อมูลให้แก่สังคมจึงมีความสําคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลด้านกฎระเบียบ การฝึกอบรม การจัดตั้งเวทีการปรึกษาหารือระหว่างภาคธุรกิจกับรัฐบาล
.
(3) การชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ปัจจุบัน สปป. ลาวมีระบบการชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันการเงินและธนาคาร ซึ่งมีความโดดเด่นและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในทางตรงกันข้ามฝั่งผู้บริโภค เช่น ผู้ประกอบการ และผู้ใช้สินค้าและบริการยังคงใช้ระบบการชําระเงินแบบเก่า (การจ่ายเงินสด) และยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน เพราะการพัฒนาระบบการจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ยังขยายตัวช้าเมื่อเทียบกับการค้าผ่านระบบออนไลน์ในปัจจุบัน รวมทั้งยังไม่มีการจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่ง Platform การค้าอิเล็กทรอนิกส์ใน สปป. ลาวส่วนใหญ่ทําหน้าที่เป็นแหล่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ การโฆษณา และวิธีการจัดส่ง โดยรูปแบบการจ่ายเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรวีซ่ายังมีจํากัด ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าความรับรู้ของภาคธุรกิจเกี่ยวกับการใช้และการจ่ายเงินดิจิทัลยังมีน้อย อีกทั้งค่าธรรมเนียมและค่าบริการยังสูงเมื่อเทียบกับบางประเทศในภูมิภาค ข้อมูลจากธนาคารโลกปี 2563 ชี้ให้เห็นว่ามีเพียงร้อยละ 1 และร้อยละ 13 ของประชากรลาวที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ถือครองบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นของตนเองตามลําดับ กล่าวคือ ประชากรลาวส่วนใหญ่ยังนิยมใช้วิธีการชําระเงินสดหรือทําธุรกรรมแบบง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือและตู้ ATM
.
(4) ด้านกฏระเบียบ ระเบียบบางฉบับเพิ่งประกาศใช้ใหม่ ซึ่งภาคธุรกิจยังขาดความเข้าใจและยังไม่สามารถดําเนินการได้ในแนวทางเดียวกัน โดยเฉพาะดํารัสว่าด้วยการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2564 และระเบียบอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ บางระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริม E-Commerce ของ สปป. ลาวมีพัฒนาการช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียน ในขณะเดียวกัน หลายประเทศในอาเซียนได้ยกระดับจากดํารัสเป็นกฎหมายว่าด้วยการค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
.
ปัญหาการขยายตัวช้าของระบบ E-Commerce ในสปป. ลาว ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อการค้าระหว่างไทย-สปป. ลาว พอสมควร เนื่องจาก Platform การค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นช่องทางการขายสินค้าที่สะดวกและรวดเร็ว ผู้ประกอบการไทยที่กำลังวางแผนการทำธุรกิจในสปป.ลาว ควรพิจารณาวิธีการนำเสนอขายสินค้าให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภคในสปป. ลาว รวมถึงติดตามข่าวสารด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ๆ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียงจันทน์