1.จังหวัดบิ่ญเซืองมีมูลค่าการค้าเกินดุล 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 จังหวัดบิ่ญเซืองมีการค้าเกินดุลถึงเกือบ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากรายได้การส่งออกกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แม้จะยังเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์ COVID-19 ทั้งนี้ จังหวัดยังคงมีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับที่ดี ดัชนีภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 และยอดค้าปลีกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ทั้งนี้ ผู้บริหารจังหวัดบิ่ญเซืองเห็นว่า รัฐบาลควรออกนโยบายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนธุรกิจให้สามารถดำเนินตามมาตรการ “3 on-site” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความพยายามในการตรวจ คัดกรอง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของ COVID-19 เช่นเดียวกับการให้การรักษาแรงงานที่ติดเชื้อ เพื่อสร้าง “เขตสีเขียว” สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรม และป้องกันการหยุดชะงักของการผลิตและห่วงโซ่อุปทานได้
.
2.นครดานังตั้งเป้าหมายเป็นเลิศด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลภายในปี 2573
คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำนครดานังได้มีมติเกี่ยวกับการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลภายในปี 2568 ด้วยวิสัยทัศน์ถึงปี 2573 โดยตั้งเป้าหมายให้นครดานังสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและสร้างเขตเมืองอัจฉริยะในทศวรรษนี้ และเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกของประเทศในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ความปลอดภัยทางข้อมูล และ e-Commerce ภายในปี 2573 โดยนครอยู่ระหว่างพัฒนา e-Government เพื่อสามารถให้บริการสาธารณะและบริการประเภทที่มิใช่ธุรกิจได้ผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลายและอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่รองรับ รวมทั้งให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดมีการจัดทำข้อมูลเปิด นครดานังคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของ GRDP เป็นอย่างต่ำ โดยมีสัดส่วนของ IT ร้อยละ 10 โดยนครดานังเป็นเมืองแรกในเวียดนามที่เปิดตัวระบบ e-Government เมื่อปี 2557 และถ่ายทอดระบบให้กับนครและจังหวัดอีก 16 แห่ง ในปี 2559 อีกทั้งนครยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในแง่ของความพร้อมในการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ ICT เป็นอันดับที่หนึ่ง ในการจัดอันดับดัชนี ICT จาก 63 จังหวัดและนครของเวียดนามต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ในปี 2563
.
3.จังหวัดจ่าวิญเตรียมพัฒนาพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่า 3 แสนล้านด่ง
จังหวัดจ่าวิญจะจัดตั้งพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรม Hiep My Tay บนพื้นที่ขนาด 40 เฮกตาร์ ในเขต Cau Ngang โดยมีงบลงทุนรวมประมาณ 3 แสนล้านด่ง ซึ่งมากกว่าจำนวนที่ประมาณการไว้ 5 หมื่นล้านด่ง โดยมีบริษัท Thuan Phat Trading and Construction เป็นผู้ลงทุน ทั้งนี้ คาดว่าพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว จะเปิดให้บริการได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 โดยจะให้ความสำคัญกับการดึงดูดกิจการประเภทหัตถกรรม เฟอร์นิเจอร์ไม้ สำหรับตกแต่งภายใน วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์และการผลิต รองเท้าและสิ่งทอเสื้อผ้า กิจการแปรรูปอาหารและการผลิตปุ๋ย เป็นต้น
.
4.ท่าอากาศยาน Con Dao เตรียมรองรับผู้โดยสาร 2 ล้านคนต่อปี
กระทรวงคมนาคมเวียดนาม ได้อนุมัติแผนการปรับเปลี่ยนการแบ่งเขตเพื่อพัฒนาท่าอากาศยาน Con Dao ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเกาะ Con Dao จังหวัดบ่าเสี่ยะ – หวุงเต่า โดยจะยกระดับให้เป็นไปตามมาตรฐาน 4C ขององค์การการบินพลเรือนระหว่าง ประเทศ เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 2 ล้านคนต่อปี และขนส่งสินค้า 4,400 ตันต่อปี จากแผนเดิมที่เคยได้รับอนุมัติที่ตั้งเป้า ให้ท่าอากาศยานสามารถให้บริการผู้โดยสาร 500,000 คนต่อปีภายในปี 2568 ทั้งนี้ ปัจจุบันท่าอากาศยานแห่งนี้ให้บริการเที่ยวบินทหารและพลเรือน โดยอนุญาตเที่ยวบินเฉพาะในช่วงเวลากลางวัน และมีผู้โดยสาร 400,000 คนต่อปี
.
5.จังหวัดก่าเมาตั้งเป้าหมายส่งออกสินค้าเกษตรเติบโตร้อยละ 8 ต่อปี
จังหวัดก่าเมาจะพยายามบรรลุเป้าหมายการส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างปี 2564-2568 ซึ่งกำหนดให้มีอัตราเติบโตร้อยละ 8 ต่อปี โดยจะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่มีและส่งเสริมการผลิตเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กุ้ง ปูทะเล ข้าวอินทรีย์ ไม้ และกล้วย อนึ่ง ภาคอุตสาหกรรมกุ้งของจังหวัดก่าเมา เป็นส่วนที่สร้างรายได้จากต่างประเทศได้มากที่สุด โดยในช่วงปี 2564-2568 จังหวัดจะรักษาพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งขนาดประมาณ 280,000 เฮกตาร์ให้คงที่ แต่เน้นการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ ขยายพื้นที่เกษตรกรรมเชิงนิเวศให้ถึง 49,000 เฮกตาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงแบบบูรณาการ เช่น การเพาะเลี้ยงกุ้งในป่าชายเลน การเลี้ยงกุ้งร่วมกับการทำนา เป็นต้น
สมาคมผู้ประกอบการผลิตและส่งออกอาหารทะเลเวียดนาม (Vietnam Association of Seafood Exporters and Producers: VASEP) ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกกุ้งของเวียดนามเติบโตร้อยละ 14 และมีมูลค่าถึง 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลจากการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจาก FTA ระหว่างเวียดนามกับประเทศต่าง ๆ โดยกุ้งขาวมีสัดส่วนส่งออกสูงที่สุดกว่าร้อยละ 81 ของกุ้งทั้งหมด มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ในขณะที่กุ้งกุลาดำมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 15 มูลค่า 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1 นอกจากนี้ การส่งออกกุ้งไปยังตลาดต่าง ๆ ภายใต้ EVFTA และ CPTPP ยังเติบโตสูงถึงร้อยละ 15-34
.
6.หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามได้จัดตั้งสภาธุรกิจรับมือ COVID-19
หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCC) ได้จัดตั้งสภาธุรกิจเพื่อสนับสนุนธุรกิจในแต่ละภาคอุตสาหกรรมและในภูมิภาคต่าง ๆ ในการรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยสภาธุรกิจจะเป็นพื้นที่ที่รวบรวมชุมชนธุรกิจ เชื่อมโยงระหว่างสมาคมธุรกิจกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง และร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือธุรกิจให้สามารถอยู่รอด ฟื้นฟู และกลับมาเติบโตได้ สภาธุรกิจดังกล่าวเน้นการดำเนินงานบนพื้นฐานของการหารือและการมีกิจกรรมร่วมภายใต้กรอบของสภาธุรกิจและ VCCI และจะประสานงานกับคณะกรรมการอำนวยการการป้องกันและควบคุม COVID-19 แห่งชาติ และคณะทำงานต่าง ๆ ในการขจัดอุปสรรคในการผลิตและดำเนินกิจการ
.
จะเห็นได้ว่าประเทศเวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และสามารถดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน การเร่งพัฒนากลุ่มพื้นที่อุตสาหกรรม การผลักดันการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับต่างประเทศผ่านกรอบทวิภาคีและพหุภาคี รวมไปถึงการประสานความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศ ดังนั้น จึงถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่วางแผนจะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทหัตถกรรมที่จังหวัดจ่าวิญกำลังให้ความสำคัญและเร่งดึงดูดอุตสาหกรรมในภาคนี้ หรือการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรที่ไทยมีศักยภาพกับจังหวัดก่าเมา เพื่อช่วยพัฒนาเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในภาคธุรกิจต่อไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์