สํานักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ได้รายงานความคืบหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มประเทศ Eurozone (EA19) รายเดือน ซึ่งมีการสรุปข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Eurozone Composite PMI) ที่บริษัท IHS Markit จัดทําขึ้น พบสภาวะทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่น่าสนใจ ดังนี้
.
(1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index :PM) เป็นตัวชี้วัดระดับกิจกรรมของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ โดยค่าดัชนีฯ ที่มีค่าเกิน 50 สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจที่ขยายตัวหรือมีทิศทางดีขึ้นในขณะที่ค่าดัชนีต่ำกว่า 50 สะท้อนถึงการหดตัว
.
(2) บริษัท IHS Markit ได้ทําการสํารวจดัชนี PMI ด้านอุตสาหกรรมจากผู้แทนของบริษัทอุตสาหกรรมและบริการ ประมาณ 5,000 ราย ในเขตยูโรโซน 8 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส กรีซ และสเปน และดัชนี PM) ด้านบริการ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และไอร์แลนด์ สรุปได้ดังนี้
.
– ในเดือนกรกฎาคม 2564 กิจกรรมในภาคธุรกิจของยูโรโซนขยายตัวในอัตราที่เร็วที่สุด ในรอบ 15 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตสูงของอุตสาหกรรมการผลิตควบคู่ไปกับการขยายตัวของกิจกรรมในภาคบริการ สะท้อนให้เห็นในดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของยูโรโซน (Eurozone PMI Composite Output Index) ที่ระดับ 60.2 จุด (เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2564 ที่ระดับ 54.5 จุด) นอกจากนี้ ผลผลิตของภาคเอกชนได้ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องยาวนานที่สุดตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เมื่อต้นปี 2563
.
– กิจกรรมและปัจจัยสะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ในทิศทางบวก โดยอุปสงค์สินค้าและบริการในยูโรโซนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 แนวโน้มคําสั่งซื้อใหม่ใกล้เคียงกับผลผลิตที่ขยายตัวขึ้น สะท้อนพัฒนาการของตลาดภายในและระหว่างประเทศซึ่งเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออก และการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (เพิ่มขึ้นในเยอรมนีและอิตาลี แต่ลดลงในฝรั่งเศสและสเปน) ในขณะที่ราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงเท่ากับเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังมีมุมมองเชิงบวกว่าผลผลิตจะขยายตัวในอีก 12 เดือนข้างหน้า
.
– ภาคบริการของยุโรปกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากความก้าวหน้าด้านวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ช่วยเพิ่มอุปสงค์ในกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว การเดินทาง และกิจการให้การบริการ (hospitality) โดยกิจกรรมในภาคบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของผลผลิตในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ยังขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่ากิจกรรมในภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของยูโรโซน (Eurozone PMI Services Business Activity Index) เดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 59.8 จุด (เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2564 ที่ระดับ 58.3 จุด) ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 โดยใน 5 ประเทศที่ทําการสํารวจ สเปนมีการเติบโตในกิจกรรมภาคบริการมากที่สุด ในขณะที่อิตาลีเติบโตต่ำที่สุด ทั้งนี้ เริ่มมีธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากคําสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ (new export order) ที่เติบโตเพิ่มขึ้นส่งผลให้อุปสงค์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การจ้างงานในภาคบริการทั่วทั้งยูโรโซนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบเกือบ 3 ปี บริษัทต่าง ๆ มีมุมมองต่อกิจกรรมทางธุรกิจที่ดีขึ้น รวมถึงแรงกดดันด้านราคาต้นทุนการผลิตและผลผลิตชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564
.
– ประเทศสมาชิกของสหภาพฯ ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่พบว่า เยอรมนีมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (22.4 จุด) อิตาลีกิจกรรมของภาคเอกชนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง (58.6 จุด) ในขณะที่สเปนและฝรั่งเศส มีการเพิ่มขึ้นของผลผลิตที่น้อยกว่า (21.2 จุด และ 56.6 จุด ตามลําดับ)
.
– ในภาพรวมผู้บริโภค ธุรกิจ และผู้ให้บริการทางการเงิน มีความหวังด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในวงกว้างมากขึ้น และการที่ภาคบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น สะท้อนเศรษฐกิจยูโรโซนที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/64 อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ Delta เพิ่มขึ้นในวงกว้าง กิจกรรมบางประเภทหดตัวลงและความเป็นไปได้ของการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดฯ ที่เข้มงวดขึ้นอีกครั้ง รวมถึงการที่ดัชนี PMI ภาคบริการของยูโรโซนปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากที่ประมาณการข้อมูลเบื้องต้นที่ระดับ 60.4 จุด และความคาดหวังเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมได้ นอกจากนี้ บริษัทต่าง ๆ ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากราคาที่สูงขึ้น แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลง หากหลังจากนี้ไม่มีการใช้มาตรการ lockdown เพิ่มขึ้น
.
ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยว การเดินทาง และกิจการให้การบริการ ควรใช้ช่วงเวลานี้ในการวางแผน และเร่งลงมือขยายธุรกิจในโซนยุโรป โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีและอิตาลีที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทังนี้ ผู้ประกอบการควรหมั่นติดตามข่าวสารและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการแพร่ระบาดฯ ในประเทศยูโรโซนค่อนข้างแผ่วงกว้างได้ง่าย รวดเร็วและรุนแรงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจบางประเภทในอนาคตได้
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป