อําเภอหลงหลิงของเมืองเป่าซาน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนมณฑลยูนนานกับประเทศเมียนมา เป็นพื้นที่ซึ่งเกษตรกรท้องถิ่นส่วนใหญ่เพาะปลูกกล้วยไม้สกุลหวาย “เอื้องสายม่านพระอินทร์” (紫皮石斛: Dendrobium devonianum Paxton) ทั้งโดยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ และวิธีการ “เกษตรประณีต” (Intensive Farming) ซึ่งเน้นการสร้างผลผลิตต่อพื้นที่ให้มากที่สุดและการปลูกซ้ำ โดยหลีกเลี่ยงวิธีการที่ทําให้ดินเสื่อมสภาพ ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมา อําเภอหลงหลิงจึงมิได้เป็นเพียง “เขตต้นแบบอุตสาหกรรมสีเขียวและเศรษฐกิจพึ่งพาป่าแห่งชาติ” “เขตต้นแบบการบํารุงเชิงวัฒนธรรมจีน” “สมาชิกสมาคมพัฒนาอุตสาหกรรมกล้วยไม้สกุลหวายของจีน” “ถิ่นกําเนิดของกล้วยไม้เอื้องสายม่านพระอินทร์ของจีน” และ “ถิ่นกําเนิดของสมุนไพรยูนนาน” แต่ยังได้รับการยกย่องให้เป็นพื้นที่ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศอินทรีย์แบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรม การสร้างสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ตลอดจนการสร้างความกินดีอยู่ดี ให้กับประชาชน
.
สําหรับกล้วยไม้ “เอื้องสายม่านพระอินทร์” เป็นพืชสมุนไพรฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณบํารุงกระเพาะและไต สามารถรับประทานได้ทั้งสดและแห้งด้วยการเคี้ยวสด คั้นน้ํา ต้ม ชง ปรุงอาหาร และแช่เหล้า เป็นต้น โดยนอกจากพบมากในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนแล้ว ยังพบกระจายทั่วไปในประเทศ ภูฎาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม
.
การปลูกกล้วยไม้สกุลหวายแบบพึ่งพาป่า นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นการรับประกันคุณภาพของผลผลิตด้วย โดยอําเภอหลงหลิงได้ใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติ และสายพันธุ์ที่หลากหลายของกล้วยไม้สกุลหวาย โดยยึดมั่น ในแนวคิดการพัฒนา “เขาเขียวน้ําใสคือทรัพยากรที่มีค่า”(绿水青山是金山银山) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อส่งเสริม อุตสาหกรรมตามนโยบาย “หนึ่งอําเภอหนึ่งผลิตภัณฑ์” (一县一业) เพื่อสร้างแบรนด์กล้วยไม้สกุลหวายเชิงนิเวศสีเขียวที่แข็งแกร่ง
.
นับจนถึงสิ้นปี 2563 อําเภอหลงหลิงมีพื้นที่ปลูกกล้วยไม้ “เอื้องสายม่านพระอินทร์” จํานวน 33,400 หมู่ (ประมาณ 13,916 ไร่) มีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้กว่า 12,000 ครัวเรือน มีปริมาณผลผลิตก้านกล้วยไม้สด 4,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 560 ล้านหยวน โดยปริมาณผลผลิตกล้วยไม้ “เอื้องสายม่านพระอินทร์” ของอําเภอหลงหลิง คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของจีน จนได้รับฉายาเป็น “ อําเภอกล้วยไม้เอื้องสายม่านพระอินทร์อันดับ 1 ของจีน”
.
ทั้งนี้ มณฑลยูนนานนับเป็นแหล่งสมุนไพรที่สําคัญของจีน โดยมีการค้นพบสมุนไพรจีนมากถึง 6,559 ชนิด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.4 ของจีน และในจํานวนนี้ เป็นพืชสมุนไพรจีน 6,157 ชนิด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.4 ของจีน โดยในปี 2562 มณฑลยูนนานมีพื้นที่เพาะปลูกพืชสมุนไพรจีน ทั้งพืชที่เป็นได้ทั้งสมุนไพรและอาหาร 8,726,800 หมู่ (ประมาณ 3,636,166 ไร่) มีปริมาณผลผลิต 949,500 ตัน โดยทั้งพื้นที่เพาะปลูก ปริมาณผลผลิต และ มูลค่าผลผลิต ล้วนครองอันดับ 1 ของจีน
.
ไทยเป็นประเทศส่งออกกล้วยไม้อันดับ 2 ของโลก รองจากเนเธอร์แลนด์ และยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างมาก โดยสายพันธุ์เอื้องสายม่านพระอินทร์ เป็นสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตอยู่ตามป่าดิบของภาคเหนือไทย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีภูมิอากาศเหมาะสมกับการเพาะปลูกกล้วยไม้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาส่งเสริมทดลองขยายพันธุ์และเพาะปลูกกล้วยไม้เอื้องสายม่านพระอินทร์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งออกไปยังจีนต่อไปได้ ซึ่งถึงแม้ว่าในขณะนี้ ตลาดโลกจะมีความต้องการกล้วยไม้ที่ลดลง แต่กลับมีการเติบโตที่ดีในตลาดอาเซียน ผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยจึงควรศึกษา FTA ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับไทยใน 18 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู นอกจากนี้ การผสมสารสกัด ส่วนประกอบ หรือแปรรูปกล้วยไม้เอื้องสายม่านพระอินทร์ ที่มีสรรพคุณด้านการบำรุงร่างกายลงในอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาบำรุง เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจในการขยายตลาดเพื่อผลักดันอาหารเพื่อสุขภาพไทยสู่ตลาดโลก
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://yn.yunnan.cn/system/2021/08/22/031624892.shtml
http://www.isenlin.cn/sf_E8156601C31B413D9561F623FB6FB10B_209_E18DAE76971.html
https://baike.baidu.com/item/%E7%B4%AB%E7%9A%AE%E7%9F%B3%E6%96%9B/461580?fr=aladdin#4_2