ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เเพลตฟอร์มรับชำระเงินออนไลน์ทำให้การซื้อของออนไลน์สะดวกเเละรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนไป ประชาชนซื้อของออนไลน์มากขึ้นเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ e-Commerce โดยเฉพาะ Cross-Border e-Commerce ในประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว
.
ในช่วงครึ่งปีเเรกของปี 2564 ขนาดตลาดของ e-Commerce ข้ามพรมเเดนจีนมีมูลค่า 6.05 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 33.48% ของมูลค่าการนำเข้าเเละส่งออกทั้งหมด คาดว่าในปี 2564 มูลค่าตลาดจะสูงถึง 14.6 ล้านล้านหยวน ระหว่างปี 2558-2563 ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าในประเทศจีนหันมาใช้ช่องทาง Cross-Border e-Commerce มากขึ้นโดยในปี 2563 มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกผ่านช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
.
Cross-Border e-Commerce คืออะไร? เเละมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยอย่างไร?
.
Cross-Border e-Commerce หรือช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมเเดนเป็นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไปยังเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) โดยผ่านกฎระเบียบพิเศษทางศุลกากรเเละจำหน่ายผ่านเเพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce เท่านั้นซึ่งสะดวกเเละใช้เอกสารน้อยกว่าการนำเข้าทั่วไป
.
การนำเข้าเเบบ Cross-Border e-Commerce เป็นวิธีช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ได้ทดลองตลาดจีน ก่อนจะนำสินค้าไปขายจริงในปริมาณมาก เนื่องจากวิธีนี้ช่วยลดความยุ่งยากในการดำเนินเอกสารต่างๆ หากนำสินค้าไปขายบนเเพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce เเล้วไม่ประสบความสำเร็จก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินเอกสารต่างๆ หมดปัญหาเรื่องสินค้าขายไม่หมด เก็บสต็อกจนหมดอายุ เน่าเสีย ถือเป็นการ “ล้ม” เเบบ “เจ็บไม่มาก” เเละในกรณีที่สินค้าประสบความสำเร็จในตลาดจีน ในอนาคตสามารถเปลี่ยนมาเป็นการนำเข้าปกติเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวสามารถขยายช่องทางการขายจากเเพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce สู่ช่องทางออนไลน์อื่นๆ หรือช่องทางออฟไลน์ เช่น เปิดหน้าร้านเป็นเเบรนด์ของตัวเอง หรือนำสินค้าไปวางขายในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้สินค้าของท่านเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
.
เเพลตฟอร์ม Cross-Border e-Commerce
.
Tmall Global, Kaoka.com, Jingdong International เเละ Suninginternational เป็น 4 เเพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในจีนที่ครองส่วนเเบ่งการตลาดมากที่สุด ถึงกระนั้นก็ตามข้อควรระวังสำหรับผู้ประกอบการไทย คือ Tmall Global มีค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านสูงประมาณ 3,000 – 6,000 หยวน เเละเก็บค่ามัดจำเริ่มต้นตั้งเเต่ 50,000 หยวนขึ้นไปขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าเเละประเภทร้านจึงอาจไม่เหมาะกับ SME ไทยที่มีต้นทุนไม่สูงมากนัก
.
ในทางกลับกัน เเพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง Pinduoduo, Kuaishou เเละ Tiktok มีข้อดี คือ ต้นทุนเปิดร้านไม่สูงมากเหมาะกับผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องการทดลองตลาดจีน
-
Pinduoduo เป็นเเพลตฟอร์มสินค้าราคาประหยัด เมื่อซื้อสินค้าพร้อมเพื่อนจะได้ราคาที่ประหยัดกว่าเปรียบเสมือนกับการช่วยโฆษณาสินค้าให้ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่านโดยในปี 2563 มีผู้ใช้งาน 788.4 ล้านคน
-
Kuaishou เเละ TikTok เป็นเเพลตฟอร์มวิดีโอสั้น สามารถขายสินค้าผ่านการ Live-streaming หรือเเนบลิงก์ไว้ทำให้ถ้าผู้ชมสนใจสามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
.
Cross-Border e-Commerce สามารถช่วยลดจำนวนพ่อค้าคนกลางในห่วงโซ่อุปทานทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถกระจายสินค้าสู้ผู้บริโภคชาวจีนได้โดยตรงซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรต่อชิ้นได้มากขึ้นเเละลดความยุ่งยากในการนำเข้าสินค้าจีน เช่น การขึ้นทะเบียน FDA หรือขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าสำหรับสินค้าประเภทอาหารเสริม เครื่องสำอางเเละสินค้าออร์เเกนิก ในปี 2563 จีนนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยผ่าน Cross-Border e-Commerce มูลค่า 2,172.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 129.8% เป็นรองเพียงมาเลเซีย สิงคโปร์ เเละญี่ปุ่น
.
ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลพื้นฐาน บริษัทคู่ค้า บริษัทขนส่งสินค้าเเละกฎระเบียบการค้าของประเทศนั้นๆอย่างละเอียดโดยเฉพาะข้อกำหนดในเเต่ละพื้นที่ก่อนการตัดสินใจลงทุน อาจเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะพิจารณาใช้ช่องทางส่งสินค้าผ่าน Cross-Border e-Commerce ในการเตรียมความพร้อมปรับปรุงเเก้ไขเพื่อประหยัดเวลาเเละค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าอีกทั้งเป็นการสร้างฐานลูกค้าเพื่อเตรียมการขยายธุรกิจในอนาคต
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู